ขาขึ้นราคาน้ำมันโลก-ปูตินคาดมีโอกาสพุ่ง100ดอลล์/บาร์เรล

ขาขึ้นราคาน้ำมันโลก-ปูตินคาดมีโอกาสพุ่ง100ดอลล์/บาร์เรล

ช่วงที่หลายประเทศเริ่มเปิดเศรษฐกิจ พร้อมประกาศจุดยืนอยู่ร่วมกับการระบาดของโรคโควิด-19ให้ได้ หลังจากล็อกดาวน์มานานหลายเดือน ราคาน้ำมันก็พร้อมใจทะยานขึ้นถ้วนหน้าเพราะปริมาณน้ำมันในตลาดมีน้อยกว่าความต้องการ

ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทะยานขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ความต้องการพลังงานในตลาดโลกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดสหรัฐทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2557             

แต่ผู้นำรัสเซีย ซึ่งให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ก็บอกว่า รัสเซียและประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆจะพยายามทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีเสถียรภาพ
 

การคาดการณ์ราคาน้ำมันของประธานาธิบดีปูติน สอดคล้องกับนักวิเคราะห์จากบริษัท เจทีดี เอเนอร์จี เซอร์วิส ในสิงคโปร์ ที่คาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไว้ก่อนหน้านี้ว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆว่า ราคาน้ำมันดิบอาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

หากกลุ่มโอเปกพลัสยังคงยึดมั่นในข้อตกลงด้านการผลิต ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

แต่นักวิเคราะห์จากบริษัท เจทีดี เอเนอร์จี เซอร์วิส ก็มีความเห็นว่า ถึงแม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจทะยานขึ้นไปสู่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์แต่ก็ไม่ได้เป็นราคาที่ยั่งยืน

การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้หลายประเทศลดการนำเข้าน้ำมัน รวมถึงจีน โดยสำนักงานศุลกากรจีน (จีเอซี) รายงานว่า ยอดนำเข้าน้ำมันดิบเดือนก.ย.ของจีนลดลง 15.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี

เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ นำน้ำมันในสต็อกออกมาใช้ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมโควต้าการนำเข้า ส่งผลกระทบต่อการสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ยอดนำเข้าก๊าซธรรมชาติเดือนก.ย.พุ่งขึ้นแตะระดับ 10.62 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เพิ่มการสต็อกก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับความต้องการในฤดูหนาว เนื่องจากจีนยังคงเผชิญปัญหาการขาดแคลนถ่านหินสำหรับการผลิตไฟฟ้า 

ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ยอดนำเข้าน้ำมันดิบของจีนลดลง 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 387.4 ล้านตัน โดยยอดสั่งซื้อชะลอตัวลงนับตั้งแต่เดือนเม.ย. หลังจากจีนควบคุมโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันกลั่นอย่างเข้มงวด

สำหรับยอดส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นของจีนในเดือนก.ย.อยู่ที่  4.14 ล้านตัน สูงกว่ายอดของเดือนส.ค.ซึ่งอยู่ที่ 3.73 ล้านตัน

ผลการประชุมแบบออนไลน์ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) เมื่อวันจันทร์ (4ต.ค.)ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตน้ำมันทั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปจนถึงเดือนพ.ย.

ซึ่งก็หมายความว่ากลุ่มโอเปกจะคงการผลิตน้ำมันเอาไว้ที่ 400,000 บาร์ต่อวัน ซึ่งเป็นโควตาที่ได้เท่ากันสำหรับทุกๆ ประเทศ แต่ก็มีชาติสมาชิกบางชาติที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 800,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า และหวังว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกในเดือนธ.ค.

นอกจากนี้ โอเปก ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกประจำปี 2564 พร้อมทั้งคงมุมมองสำหรับปี 2565 ในรายงานประจำเดือนต.ค.ที่มีการเผยแพร่ในวันพุธ(13ต.ค.)

โอเปกคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานเดือนก.ย. โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 100.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะได้ปัจจัยหนุนจากแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในประเทศผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ และจากการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น

แต่โอเปกก็ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในปีนี้ โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากข้อมูลที่แท้จริงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ออกมาต่ำกว่าคาด ถึงแม้ทางกลุ่มยังคงเชื่อว่าความต้องการน้ำมันในไตรมาสปัจจุบันจะแข็งแกร่งก็ตาม

ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปิดวันพุธ (13 ต.ค.)ปรับตัวลง 20 เซนต์ เพราะนักลงทุนวิตกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจไม่ราบรื่น และจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์พลังงาน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 20 เซนต์ ปิดที่ 80.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 24 เซนต์ ปิดที่ 83.18 ดอลลาร์/บาร์เรล