"เยอรมนี" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

"เยอรมนี" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

"ไรน์โฮลด์ เอลเกส" ผอ. GIZ ชี้ การที่ประเทศไทย มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก เชื่อว่า หากเรากล้าที่จะทำในสิ่งที่ดีขึ้น ย่อมจะได้รับสิ่งที่ดีกว่า ทั้งชีวิตที่ดีขึ้น โลจิสติกส์ และพลังงานที่สะอาดอย่างยั่งยืน

ถ้าหากผ่านไปแถวถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ เห็นหนุ่มต่างชาติผมบลอนด์ปั่นจักรยานไฟฟ้าคันใหญ่ รูปทรงแปลกตา ขอให้รู้คือ "ไรน์โฮลด์ เอลเกส" ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit :GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันความร่วมมือระหว่างไทย - เยอรมนี ในด้านการใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน

ไรน์โฮลด์ เกิดที่ประเทศ “เยอรมนี” เมืองแห่งยนตรกรรมชั้นนำระดับโลก ในวันนี้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และโครงข่ายคมนาคมที่นี่ กำลังมุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด หวังบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่ประกาศไว้อีก 24 ปีข้างหน้า

 

\"เยอรมนี\" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

ไรน์โฮลด์ คนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นใช้ชีวิตพิชิตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เล่าว่า นับตั้งแต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ แต่ปี 2563 มีการปล่อยคาร์บอนลดลง 6.4% หรือ 2.3 พันล้านตัน

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก เช่นเดียวกันเยอรมนี และไทยได้รับผลกระทบ  รวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางในชีวิตประจำวัน

 

\"เยอรมนี\" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

โควิด-19 ปฏิวัติพลังงานสะอาด

เมื่อมาถึงจุดนี้ และเพื่อตอบสนองวิกฤตการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตในหลายด้าน โรคโควิด-19 ทำให้ผมต้องตั้งคำถามต่อกรอบความคิดเดิมๆ ในแง่มุมชีวิตกับสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ในวันก่อน ให้กลายเป็นนิวนอร์มอล ของทุกคน

"ชัดเจนแล้วว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่จะปฏิวัติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงพลังงานสะอาดและระบบขนส่งทันสมัย และชาญฉลาด"

มองโลกใหม่ ผ่านสายกรีน

ไรน์โฮลด์ มองว่า วิถีชีวิตที่ยั่งยืนมีความสำคัญยิ่ง หากย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน เยอรมนีเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี  ทุกคนสามารถเลือกผู้ให้บริการไฟฟ้าอย่างอิสระ ผมเลือกแบบพลังงานหมุนเวียน 100% และคิดว่า “จะดีมากถ้ามีตัวเลือกนี้ในไทย”

 

\"เยอรมนี\" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

ครั้งที่อยู่เยอรมนี ในวันหยุดพักผ่อนครอบครัวเราปั่นจักรยาน หรือใช้ขนส่งสาธารณะจนเป็นปกติในชีวิตประจำวัน วิธีนี้ใช้ได้ผลดี ไม่เฉพาะในยุโรป และเมื่อพวกเราย้ายมายังกรุงเทพมหานครในฤดูร้อนปีที่แล้ว ก็นำจักรยานไฟฟ้าบรรทุกสัมภาระ (electric cargo bike) มาด้วย

“เราปั่นจักรยานไฟฟ้าไปทำงานหรือซื้อของทุกสัปดาห์ มีพื้นที่เพียงพอสำหรับลูกชายวัย 12 ขวบและบางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นแท็กซี่ส่วนตัว บอกเลยว่า พวกเราชอบปั่นจักรยานในเมือง ได้ซึมซับบรรยากาศรอบข้างมากกว่านั่งรถยนต์ แถมมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบนท้องถนน  และยังเป็นโอกาสชักชวนคนไทยใช้จักรยานเพื่อมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ลฟ์สไตล์นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุโรป และเชื่อว่า เป็นนิวนอร์มอลของคนทั่วโลก ณ วันนี้ ทุกคนสามารถเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ บนความเชื่อมั่นร่วมกันว่า “พลังงานสะอาด” จะนำไปสู่สมาร์ทไลฟ์ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ

 

\"เยอรมนี\" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

“เยอรมนี” มุ่งหน้าลดคาร์บอนเหลือศูนย์

เยอรมนี ตัดสินใจจะเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2588 โดยได้กำหนดเป้าหมายในเบื้องต้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 65% ภายในปี 2573 และ 88% ภายในปี 2583

ไรน์โฮลด์ ฉายภาพให้เห็นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคมนาคมที่ชาญฉลาดในเยอรมนีว่า ภาคขนส่งในเยอรมนี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่กำลังค่อยๆปรับตัวทางธุรกิจ และมีโซลูชั่นร่วมกันในสังคม ทุกวันนี้ชาวเยอรมันสนับสนุนการจำกัดใช้รถยนต์ส่วนตัวและใช้เครื่องยนต์สันดาป สลับใช้การเดิน ปั่นจักรยาน และใช้ขนส่งสาธารณะ ภายใต้คอนเซ็ปต์เมืองน่าอยู่

ไฮโดรเจนสีเขียว เทคโนฯ แห่งอนาคต

ในเยอรมนี ใช้ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) เชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด นำมาช่วยแก้ปัญหาสำหรับภาคส่วนที่ยังไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าทันที เช่น รถบรรทุกหนัก ธุรกิจเดินเรือ และการบิน ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนเป็นวาระแห่งชาติ ในฐานะเทคโนโลยีแห่งอนาคต

ส่วนในปีนี้ เยอรมนีประกาศงบประมาณเพื่อต่อสู้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ ไปพร้อมๆกับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนดังกล่าว จะใช้เงิน 2.2 พันล้านยูโรเพื่อสร้างแรงจูงใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียว และลดคาร์บอนในระบบคมนาคม  

 

\"เยอรมนี\" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

นอกจากนี้ ยังลงทุนเกี่ยวกับไฮโดรเจนสีเขียว 7 พันล้านยูโร การสร้างโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและการผลิตแบตเตอรี่ 2.5 พันล้านยูโร การสนับสนุนบ้านประหยัดพลังงาน 2 พันล้านยูโร การใช้รถโดยสารกับรถบรรทุกพลังงานสะอาด 1.2 พันล้านยูโร และสนับสนุนการรถไฟแห่งเยอรมนีภายใต้การบริหารของบริษัทด็อยท์เชอบานเพิ่มอีก 5 พันล้านยูโร

“เยอรมนี” หนุน “ไทย” ฮับรถยนต์ไฟฟ้าโลก

ไรน์โฮลด์ มองว่า สำหรับประเทศไทย การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสู่สังคมพลังงานสะอาด และการที่ประเทศไทยมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าจะก้าวเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ตามแผนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ 

 

\"เยอรมนี\" ประเทศยนตรกรรม ส่งต่อประสบการณ์พลังงานสะอาด

"เชื่อว่า หากเรากล้าที่จะทำในสิ่งที่ดีขึ้น ย่อมจะได้สิ่งที่ดีกว่ากลับมา ตามคำกล่าวที่ว่า Build Back Better ทั้งสมาร์ทไลฟ์ โลจิสติกส์ และพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนแท้จริง”

ไรน์โฮลด์ กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาผลักดันการปฏิวัติ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และความพยายามครั้งใหญ่ GIZ ยืนยันจะสนับสนุนพันธมิตรที่มองหาแนวทางคล้ายคลึงกัน ในภาคพลังงานและการขนส่งในไทย เชื่อว่า แนวทางแบ่งปันการเรียนรู้จากยุโรป จะช่วยไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าในอนาคต