นักวิชาการชี้พิษทุนนิยมสะกิดใจคนดู “Squid Game” ทั่วโลก

นักวิชาการชี้พิษทุนนิยมสะกิดใจคนดู “Squid Game” ทั่วโลก

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศต่างพูดถึง“Squid Game”ซีรีส์แนว Survival Drama ว่ากำลังสร้างปรากฏการณ์วัฒนธรรมล่าสุดของเกาหลีใต้ต่อสายตาชาวโลกขณะนี้

Squid Game บอกเล่าเรื่องราวของคนชายขอบในสังคมเกาหลีใต้ ทั้งคนชั้นล่างหนี้ท่วม แรงงานข้ามชาติ ชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ ต้องมาแข่งขันเกมเชิงเงินรางวัล 4.56 หมื่นล้านวอน ใครแพ้ก็ตายไป 

หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือนก่อนได้ไม่กี่วัน ซีอีโอเน็ตฟลิกซ์เผยว่า Squid Game  เป็นหนึ่งในรายการทีวีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นี่คือปรากฏการณ์ล่าสุดของวัฒนธรรมป็อบเกาหลีใต้ที่เติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับวงเคป๊อป “BTS” และภาพยนตร์ดีกรีรางวัลออสการ์อย่าง“Parasite”

นักวิจารณ์กล่าวว่า ถ้าไม่คำนึงถึงฉากความเป็นเกาหลี ธีมหลักของซีรีส์และการวิจารณ์ข้อเสียของระบบทุนนิยมนั้นใช้ได้กับทุกที่ ยิ่งโควิด-19 ระบาดยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของโลก นี่คือหัวใจดึงดูดผู้ชม

“แนวโน้มการเห็นแก่กำไรมาก่อนความอยู่ดีกินดีของประชาชนกำลังเพิ่มมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ในสังคมทุนนิยมทั่วโลก” ชารอน หยุน อาจารย์ด้านเกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยนอเตรอดามในสหรัฐกล่าว

สำหรับเน็ตฟลิกซ์เมื่อเดือน ก.พ. ประกาศแผน เฉพาะปีนี้ปีเดียวทุ่มงบ 500 ล้านดอลลาร์ผลิตซีรีส์และภาพยนตร์ในเกาหลีใต้

“ตลอดสองปีที่ผ่านมา เราเห็นโลกตกหลุมรักคอนเทนท์เกาหลีและผลงานผลิตในเกาหลีที่เน็ตฟลิกซ์ทำป้อนโลก ความมุ่งมั่นของเราต่อเกาหลีชัดเจนมาก เราจะลงทุนและร่วมมือกับผู้สร้างเกาหลีใต้ในทุกเรื่องราวและทุกรูปแบบ” เท็ด ซาแรนโดส ซีอีโอร่วมของเน็ตฟลิกซ์กล่าวไว้ในตอนนั้น

ประวัติศาสตร์ประเทศเกาหลีใต้มีทั้งสงคราม ความยากจน และรัฐบาลเผด็จการ ศิลปินจึงหยิบประเด็นสังคม ความรุนแรง และอำนาจมานำเสนอ เกิดเป็นฉากหลังด้านวัฒนธรรมในหลากรูปแบบสู่สายตาผู้ชมต่างชาติมาหลายสิบปี เริ่มต้นจากผู้ชมทีวีชาวเอเชียก่อน จากนั้นภาพยนตร์เกาหลีไปได้รางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ยุโรป วงเคป๊อปได้แฟนเพลงมหาศาลทั่วโลก และ“Parasite” เป็นภาพยนตร์ภาษาเกาหลีที่คว้ารางวัลใหญ่ระดับโลก

ผลงานของผู้กำกับบง จุนโฮ เรื่องนี้หยิบช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมาเสียดสีอย่างเจ็บแสบ แสวงหาความหมายของความยากจนยุคใหม่ในเกาหลีใต้ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก

ฮวาง ดง ฮยอก ผู้กำกับ Squid Game เขียนบทเสร็จตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน แต่หาทุนไม่ได้ เพราะนักลงทุนลังเล บอกว่า “เลือดสาดเกินไป ไม่คุ้นเคย เข้าใจยาก” งานเก่าๆ ของฮวาง ดง ฮยอก บอกเล่าเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศ การรับลูกบุตรธรรมต่างชาติ คนพิการ ทั้งหมดนำเค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริง ใน  Squid Game  ซึ่งเป็นซีรีส์เรื่องแรกของเขา เล่าถึงประสบการณ์ร่วมที่สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวเกาหลีใต้ในทุกวันนี้เช่น วิกฤติการเงินเอเชียปี 2540 และการเลย์ออฟพนักงานซันยองมอเตอร์เมื่อปี 2552 ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้มีคนฆ่าตัวตายจำนวนมาก

“เกาหลีใต้กลายเป็นสังคมเหลื่อมล้ำสูงค่อนข้างเร็วและเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง ตอนนี้การยกระดับทางสังคมเป็นไปได้น้อยกว่าเมื่อก่อนปี 2540 บาดแผลของความเหลื่อมล้ำดิ่งลึกได้ไปปรากฏอยู่บนจอ” วลาดิมีร์ ทิโคนอฟ อาจารย์ด้านเกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยออสโลให้ความเห็น

เน็ตฟลิกซ์ฉายซีรีส์เรื่องนี้ทั้งเสียงซาวด์แทร็กและเสียงพากษ์ในหลากหลายภาษาเพื่อขยายฐานคนดู

ไบรอัน ฮู อาจารย์ด้านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยซานดิเอโกในสหรัฐ กล่าวว่า การที่เรื่องนี้ได้รับความนิยมในเกือบ 100 ประเทศ เป็นหลักฐานว่า Squid Game ไม่ได้สร้างให้คนดูตะวันตกเท่านั้น

“ผู้ชมตะวันตกดูสื่อต่างชาติที่บอกเล่าเรื่องราวความยากจนมานานแล้ว จนกลายเป็นวิธีดูถูกความล้าหลังของคนทั้งโลก อัตลักษณ์ของ‘Parasite’ และ‘Squid Game’ อยู่ที่ว่า แม้งานจะฉายภาพความยากจนและเหลื่อมล้ำทางชนชั้น แต่ก็ทำแบบเน้นเทคนิคและความทันสมัยของเกาหลี”