ญี่ปุ่น-สหรัฐ-ยุโรปเตรียมกำจัดวัคซีนส่วนเกิน

ญี่ปุ่น-สหรัฐ-ยุโรปเตรียมกำจัดวัคซีนส่วนเกิน

ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปริมาณ 240 ล้านโดสที่เสี่ยงต่อการเป็นขยะเพราะหมดอายุไม่สามารถนำมาฉีดให้แก่ประชาชนได้ทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปสรรคด้านโลจิสติก ที่ทำให้วัคซีนเหล่านี้ถูกทิ้งค้างไว้จนเกินกำหนดเวลา

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่มีวัคซีนโควิด-19ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่จำเป็นต้องใช้จริงๆหลายล้านโดสเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ที่วัคซีนที่ครอบครองอยู่จะใช้ไม่ได้ เพราะหมดอายุแต่ก็มีทางเลือกให้ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้เร่งมอบวัคซีนส่วนเกินทั้งหมดให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาในการเข้าถึงวัคซีน   

 ในช่วงปลายปีนี้ มีวัคซีนประมาณ 100 ล้านโดสที่สั่งซื้อ หรือไม่ก็สัญญาว่าจะซื้อจากกลุ่มจี7 และบรรดาชาติสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)ที่จะหมดอายุนำมาใช้งานไม่ได้ 
 

ด้านแอร์ฟินิตี้ บริษัทวิจัยสัญชาติอังกฤษ ระบุว่า มีวัคซีนประมาณ 240 ล้านโดสที่จะหมดอายุภายในสองเดือนนี้ และดูเหมือนวัคซีนจำนวนนี้กำลังสร้างปัญหายุ่งยากด้านโลจิสติกในการส่งไปให้ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่นำไปใช้ 

 แอร์ฟินิตี้ ระบุด้วยว่า ภายในปลายปี 2564 วัคซีนในสต็อกของจี7และในประเทศสมาชิกอียูจะมีมากกว่า 1,000 ล้านโดส ขณะที่ปริมาณวัคซีนมีมากกว่าความต้องการ บรรดานักวิเคราะห์จึงสันนิษฐานว่า ทุกประเทศจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่พลเมืองของตน แต่ต้องไม่ฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
 

อายุโดยเฉลี่ยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจะอยู่ที่ 6-7 เดือน เมื่อมีการกระจายวัคซีนให้แก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ผ่านโครงการโคแว็กซ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ)จึงจำเป็นต้องคำนวณเรื่องระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อนำส่งวัคซีนในห้องควบคุมอุณหภูมิไปยังพื้นที่ฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา

ญี่ปุ่นสั่งซื้อ หรือให้คำมั่นสัญญาที่จะซื้อวัคซีนในปริมาณ 560 ล้านโดส และทุกวันนี้ ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดสแล้วคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าญี่ปุ่นจะเริ่มต้นฉีดวัคซีนช้ากว่าในยุโรปและสหรัฐ แต่ชาวญี่ปุ่นเกือบทุกคนก็ต้องการวัคซีน จึงคาดว่าในช่วงเดือนพ.ย.ตัวเลขผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้น

แอร์ฟินิตี้ ประเมินว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ผู้สูงวัยหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่สองแล้ว8เดือน และนับจนถึงเดือนมี.ค.ปีหน้า ญี่ปุ่นจะมีวัคซีนเหลือในปริมาณมากกว่า 100 ล้านโดส

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับเวียดนามหลังจากบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จำนวนทั้งสิ้น 1.24 ล้านโดสให้แก่ไต้หวันโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อตอบแทนที่ไต้หวันเคยช่วยเหลือญี่ปุ่นเมื่อครั้งประสบเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน

ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นกระจายวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นและไม่ได้บันทึกวันหมดอายุของวัคซีนทั้งหมดไว้

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เพิ่มสัดส่วนการบริจาควัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจำกัดการฉีดให้เฉพาะกลุ่มประชากรสูงวัยเพื่อลดการกำจัดวัคซีนหมดอายุ แต่ด้วยความที่ผู้ผลิตวัคซีนอาจผลิตวัคซีนลดลง  รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกคล้ายๆกันเพื่อให้มีวัคซีนในสต็อกมากกว่าความต้องการใช้

บรรดาผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เตรียมผลิตวัคซีนให้ได้ 12,200 ล้านโดส ภายในปลายปีนี้ ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ฉีดให้แก่ประชากรทั้งโลกที่มีอายุ 12 ปีและมากกว่านั้น

แต่การมีวัคซีนหมุนเวียนในปริมาณมากโดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า และการณรงค์ฉีดวัคซีนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังคงล่าช้า ปราศจากการวางแผนที่ดี ทำให้การส่งมอบวัคซีนภายใต้โครงการโคแว็กซ์นับจนถึงตอนนี้มีปริมาณกว่า 300 ล้านโดส ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้เบื้องต้นที่ 2,000 ล้านโดสภายในปลายปีนี้

อุปสรรคอีกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ต้องใช้ตู้แช่เย็นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย  

โดยเมื่อเดือนพ.ค. มาลาวีเผาทำลายวัคซีนที่หมดอายุไป 20,000 โดส และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ส่งคืนวัคซีน 1.3 ล้านโดสให้แก่โคแว็กซ์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่วัคซีนในปริมาณนี้จะหมดอายุก่อนที่จะถูกนำไปใช้

แอร์ฟินิตี้ ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า วัคซีน 3 บริษัทที่ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกมากที่สุดในปีนี้ คือวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค 2.47 พันล้านโดส อ็อกซ์ฟอร์ด/แอสตร้าเซนเนก้า 1.96 พันล้านโดส และซิโนแวค 1.35 พันล้านโดส  

จนถึงขณะนี้ ทั้งไฟเซอร์และซิโนแวค ต่างทำได้ตามเป้าเบื้องต้นที่วางไว้แล้ว

แต่แอสตร้าเซนเนก้า ที่ประกาศในตอนแรกว่าจะผลิตวัคซีน 3,000 ล้านโดสในปีนี้อาจใช้เวลามากกว่าบริษัทยาอื่นๆเพราะการจะทำเช่นนั้นได้ บริษัทต้องพึ่งพาพันธมิตรในการผลิตวัคซีนในหลายพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ