เอดีบีเตรียมตั้งกองทุน-เร่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเร็วขึ้น

เอดีบีเตรียมตั้งกองทุน-เร่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเร็วขึ้น

เอดีบีเตรียมตั้งกองทุน-เร่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเร็วขึ้นโดยเอเชียครองสัดส่วน 60% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุด

 ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการบรรเทาภาวะโลกร้อน ลดการใช้ถ่านหิน ลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล หันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลมและพลังงานทางเลือกที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น

ล่าสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)ประกาศตั้งกองทุนเพื่อนำเงินจากกองทุนนี้มาซื้อโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหินเพื่อปิดกิจการโรงงานเหล่านี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เร็วขึ้นจากแผนเดิมประมาณ 5 หรือไม่ก็10ปี

เอดีบี ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลและบรรดาสถาบันการเงินในประเทศต่างๆวางแผนตั้งกองทุนในประเทศอินโดนีเซียที่พึ่งพาถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากที่สุด โดยมีเป้าหมายเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านอินโดนีเซียให้เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในปริมาณต่ำที่สุด โดยเร็วที่สุด
 

“เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ (COP26) เอดีบีจะแก้ไขการดำเนินนโยบายด้านพลังงานเสียใหม่ เริ่มต้นด้วยการที่เราจะเลิกขยายเงินกู้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินแห่งใหม่และจะตั้งกองทุนต่างๆเพื่อช่วยให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในตอนนี้สามารถปิดกิจการได้เร็วขึ้น ก่อนหมดวาระวงจรชีวิตของโรงงาน”มาสึงุ  อะซากาวะ ประธานเอดีบี ให้สัมภาษณ์พิเศษเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย

การประชุมสุดยอดCOP26จะเริ่มในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้ในกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์

กองทุนต่างๆที่เอดีบีจะตั้งขึ้นจะนำเงินมาจากรัฐบาลประเทศต่างๆที่มีกำลังทรัพย์และการปล่อยกู้ระยะยาวโดยคิดอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ รวมทั้งเชื้อชวนให้สถาบันการเงินทั่วโลกเข้ามาลงทุน โดยเชื่อว่าบรรดาผู้ปล่อยกู้ทั้งหลายจะให้ความสนใจ 
 

เอดีบีตั้งเป้าตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงไฟฟ้าจากถ่านหินและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน และที่ผ่านมา เอดีบีได้ปรึกษาเรื่องนี้กับรัฐบาลรวมทั้งบริษัทด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินในประเทศต่างๆ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม

อะซากาวะ ไม่ได้เปิดเผยถึงขนาดของกองทุนว่าจะมีมูลค่าเท่าใดแต่น่าจะเป็นกองทุนขนาดใหญ่ โดยต้นทุนโรงไฟฟ้าจากถ่านหินมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านเยน(2,700 ล้านดอลลาร์)ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า และคาดว่าการซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกจะเริ่มในปี 2565 หรือ2566

“เอเชียครองสัดส่วนประมาณ 60% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นตอของโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นผลพวงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด เอดีบีตั้งเป้าการลงทุนในโครงการต่างๆไว้ที่ 80,000 ล้านดอลลาร์เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศระหว่างปี 2562 และปี2573”อะซากาวะ กล่าว

ประธานเอดีบี บอกด้วยว่า โดยทั่วไปโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกออกแบบมาเพื่อให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 30-40 ปี ซึ่งเอดีบีหวังว่าการเข้าซื้อโรงงานตามแผนที่ประกาศครั้งนี้ จะช่วยเร่งกระบวนการกำจัดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคนี้ให้เร็วขึ้นประมาณ 5 หรือไม่ก็10 ปี ทั้งยังช่วยให้ไม่ต้องเสียเงินลงทุนมากและช่วยประหยัดต้นทุนด้านการเสื่อมของราคา

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมีสัดส่วนเกือบ 40% ของผลผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลก แต่ก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่สูงถึง 60%  ซึ่งการลดพึ่งพารถ่านหินจะช่วยเปลี่ยนผ่านภูมิภาคไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนการบริโภคถ่านหินประมาณ 80% ของการบริโภคถ่านหินทั่วโลก

เอดีบี ระบุว่า ถ้าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในตอนนี้ด้วยโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของประเทศเหล่านี้จะลดลงประมาณ 200 ล้านตันต่อปี หรือเท่ากับการนำรถยนต์ใช้น้ำมันออกจากถนน 61 ล้านคัน

แต่เอดีบีก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเอเชียไปให้ถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยังคงมีอุปสรรคมากมายให้ก้าวข้าม เพราะถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย

ขณะที่พลังงานหมุนเวียนก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ แต่ผลผลิตของพลังงานหมุนเวียนยังไม่เสถียร ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและช่วงเวลา หากเร่งรีบปรับเปลี่ยนไปหาพลังงานสะอาดเร็วเกินไป ก็จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานตามมา อาจบั่นทอนความพยายามที่จะหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมต่างๆให้อยู่รอดในยุคนี้ เพราะฉะนั้น การก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้ได้ผลในทางปฏิบัติ ต้องสร้างหลักประกันด้วยว่าแต่ละประเทศมีพลังงานที่จำเป็นใช้อย่างพอเพียง

อะซากาวะ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเอดีบีเมื่อเดือนม.ค.ปี 2563 หลังจากทาเกฮิโกะ นากาโอ ประธานคนก่อนหน้าเขาลาออกจากตำแหน่งก่อนครบเทอม 5 ปี และการดำรงตำแหน่งในเทอมที่2ของอะซากาวะจะเริ่มต้นในเดือนพ.ย.นี้

ประธานเอดีบี บอกว่าตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเอดีบีเขายุ่งอยู่กับการตอบสนองการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

“เราให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19แก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งจัดทำโครงการริเริ่มด้านวัคซีนมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ แต่ถึงแม้หลายประเทศจะมีกองทุนต่างๆ การจัดทำกรอบงานด้านการแพร่กระจายวัคซีนก็ยังเกิดปัญหาความล่าช้าในบางครั้ง เราจึงตั้งใจที่จะมีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ในภูมิภาคเอเชีย” ประธานเอดีบี กล่าว