นักวิเคราะห์เชื่อ "เอเวอร์แกรนด์" ไม่จบเหมือน "เลห์แมน บราเธอร์ส"

นักวิเคราะห์เชื่อ "เอเวอร์แกรนด์" ไม่จบเหมือน "เลห์แมน บราเธอร์ส"

นักวิเคราะห์เชื่อ ปัญหาหนี้ท่วมไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ไม่น่าเป็นเหตุให้ล้มละลายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับวาณิชธนกิจ "เลห์แมน บราเธอร์ส" ของสหรัฐเมื่อปี 2551

นักวิเคราะห์ชี้ถึงความแตกต่างสำคัญระหว่างวิกฤติเอเวอร์แกรนด์ กับวิกฤติเลห์แมนล้มว่า เอเวอร์แกรนด์ถือครองที่ดิน ขณะที่เลห์แมนถือครองสินทรัพย์ทางการเงิน

นายร็อบ คาร์เนลล์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสถาบันการเงินไอเอ็นจี เผยกับรายการ“Squawk Box Asia.” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า เอเวอร์แกรนด์มีปัญหากระแสเงินสดก็จริง แต่ถ้าจะพูดว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ “ดูจะเกินจริงไปหน่อย” เอเวอร์แกรนด์ไม่ใช่เลห์แมน ไม่ใช่กองทุนแอลทีซีเอ็ม ที่ล้มในทศวรรษ 90 แล้วกระตุ้นให้เกิดความตื่นตระหนก ไม่ใช่เฮดจ์ฟันด์ที่มีสถานะได้เปรียบมหาศาล ไม่ใช่ธนาคารที่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินกำลังดิ่งลงเข้าใกล้ศูนย์ แต่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนที่มีหนี้สินค่อนข้างมาก เทียบได้กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

เขาคาดว่า ถ้าเอเวอร์แกรนด์ได้เงินสดจำนวนหนึ่งเข้ามาสู่โครงการ บริษัทก็สามารถทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้สำเร็จ นำออกขายแล้วเริ่มมีเงินมาใช้หนี้

อ่านข่าว : วิกฤตหนี้ “เอเวอร์แกรนด์” บทพิสูจน์ความน่าเชื่อถือจีน

อีกปัจจัยหนึ่งที่แตกต่างกรณีเอเวอร์แกรนด์คือรัฐบาลเข้ามาควบคุมและเข้าเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนมากกว่า นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยไชนาเบจบุ๊ค กล่าวเมื่อวันจันทร์ (20 ก.ย.) ว่า ธนาคารจีนและบริษัทอื่นอีกมากมายเป็นสาขาของรัฐบาล และคอยเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอยู่ห่างๆ แม้แต่การเงินนอกภาครัฐก็สามารถควบคุมได้อย่างที่ไม่ค่อยเห็นที่อื่นนอกจีน การล้มละลายทางการค้าคือทางเลือกของรัฐ เขาเชื่อว่าความเสียหายบานปลายแบบเลห์แมนจะไม่เกิดขึ้นในกรณีนี้