โครงสร้างพื้นฐานรถอีวีเป็นความท้าทายของอาเซียน

โครงสร้างพื้นฐานรถอีวีเป็นความท้าทายของอาเซียน

โครงสร้างพื้นฐานรถอีวีเป็นความท้าทายของอาเซียน ขณะยอดขายในแต่ละปีของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถยนต์เชิงพาณิชย์ในอาเซียนอยู่ที่ 3.5 ล้านคัน

ก่อนที่การระบาดของโรคโควิด-19จะทำให้หลายประเทศในอาเซียนต้องปิดพรมแดน พลเมืองชาวสิงคโปร์อย่าง“คิน หว่อง” วัย40 ปี ต้องขับรถบีเอ็มดับเบิลยู เอ็ม3ไปมาเลเซียทุกอาทิตย์และเขาเริ่มคิดที่จะเลิกใช้รถยนต์ที่กินน้ำมัน หันไปใช้รถยนต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน     

แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ ไม่ใช่เพราะเครื่องยนต์ทรงพลังของรถบีเอ็มดับเบิลยูที่ทำให้เขาตัดสินใจซื้อรถคันนี้มาใช้ แต่เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จุดชาร์จแบตเตอรี่ที่ยังมีไม่มากพอในความคิดของเขา  อีกเรื่องที่เขากังวลคือ เขาไม่มั่นใจว่ามาตรการจูงใจของรัฐบาลสำหรับคนที่ต้องซื้อรถยนต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะสามารถชดเชยกับราคารถที่ยังถือว่าสูงในขณะนี้ได้หรือไม่
 

บรรดาผู้นำจาก 196 ประเทศทั่วโลกจะมาพบปะกันที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ(COP26)โดยพวกเขาถูกร้องขอให้มอบคำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบรุนแรงที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเล และสภาพอากาศแบบสุดโต่ง

 บันทึกของคณะผู้จัดการประชุม COP 26 ระบุว่า การขนส่งทางบกมีสัดส่วน 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ทั่วโลก ขณะที่อะล็อก ชาร์มา ประธานCOP26 กล่าวว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นเร็วกว่าภาคส่วนอื่นๆ รัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลก จำเป็นต้องเพิ่มความพยายามที่จะใช้รถอีวีสองเท่า พร้อมทั้งคาดการณ์ว่ารถอีวีจะมีสัดส่วนกว่า50% ของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายภายในปี 2583

ข้อมูลของสมาคมรถยนต์อาเซียน ระบุว่า ปัญหานี้่เป็นความท้าทายระดับโลก แต่การกวาดล้างรถยนต์กินน้ำมันบนท้องถนนของอาเซียนจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ โดยรวมแล้ว ยอดขายในแต่ละปีของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถยนต์เชิงพาณิชย์อยู่ที่ 3.5 ล้านคน และรถจักรยานยนต์ หรือรถสกู๊ตเตอร์อยู่ที่ 4 ล้านคันก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนยังคาดหวังว่าจะมีผู้บริโภคหน้าใหม่ประมาณ 140 ล้านคนภายในปี 2573 อานิสงส์จากผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางตอนบนและระดับสูงที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 57 ล้านคน

ปัจจัยหนุนสองปัจจัยคือลูกค้ากระเป๋าหนักเพิ่มขึ้นและความทะเยอทะยานอย่างมากของประเทศต่างๆที่ต้องการเป็นเจ้าของรถอีวี ทำให้บริษัททั่วโลกตั้งแต่เกรท วอลล์ มอเตอร์ ของจีน บริษัทฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ของเกาหลีใต้ และแอลจี เอเนอร์จี โซลูชันแสดงออกชัดเจนว่าต้องการลงทุนในบริษัทรถยนต์ท้องถิ่น หรือบริษัทผลิตแบตเตอรี

เมย์แบงก์ กิมเอ็ง คาดการณ์ว่า รถอีวีจะขายได้มากกว่ารถยนต์กินน้ำมันในตลาดอาเซียนภายในปี 2578 แต่ผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า ความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบไฟฟ้าทั้งคันยังคงไม่กระตือรือร้นอยากมีไว้ครอบครอง

ขณะที่บรรดาผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรม มีความเห็นว่าการใช้รถยนต์อีวีทั่วทั้งภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน อาจจะล่าช้าออกไปเพราะขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและขาดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแต่ละประเทศ  โดยวิสัยทัศน์ว่าด้วยการเพิ่มความร่วมมือภายในภูมิภาคของอาเซียน หรือแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ภายในปี 2568 ไม่ได้ระบุถึงการทำให้ระบบขนส่งสะอาดขึ้นหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 การทำให้ถนนของประเทศต่างๆทั่วภูมิภาคอาเซียนมีรถอีวีมากขึ้นเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลอาเซียนเพราะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดรับกับความพยายามในเรื่องนี้ เพื่อกระตุ้นการผลิตและปรับตัวให้สอดรับกับตลาดรถยนต์ในช่วงสองสามปีข้างหน้า

“วิเวก วิทยา”หุ้นส่วนสัมพันธ์จากฟรอสต์ แอนด์ ซุลลิแวน บริษัทที่ปรึกษาและวิจัย ให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียว่า ประเทศในเอเชียกำลังดำเนินการในเรื่องนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

 “ทุกประเทศจะพิจารณาและดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และแต่ละประเทศก็มียุทธศาสตร์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นตอนนี้ เราจึงไม่เห็นความเป็นเอกภาพหรือการตอบสนองด้านการสนับสนุนรถอีวีในกลุ่มชาติสมาชิกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”วิเวก กล่าว

 ด้าน“ยศพงษ์ ลออนวล” อดีตประธานสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (อีแวท) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้า the Mobility & Vehicle Technology Research Center มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องการมั่นใจว่าพวกเขาสามารถชาร์จแบตเตอรีรถยนต์ของพวกเขาได้เมื่อต้องขับรถข้ามพรมแดน และสามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตท้องถิ่น

 ยศพงษ์ ยังเสนอแนะให้มีการนำระบบภาษีมาใช้เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆเปลี่ยนไปใช้รถอีวีเร็วขึ้น กดดันให้บริษัทผลิตรถยนต์ที่ผลิตรถไฮบริดและรถไฮบริดปลั๊กอินยอมที่จะจ่ายเงินมากขึ้น"ในตอนนี้ในประเทศไทย รถไฮบริดและรถไฮบริดปลั๊กอินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ไม่ถึง 100 กรัมต่อกิโลเมตรถูกจัดไว้ในพวกเดียวกับรถไฟฟ้าคือรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียต่ำ จึงทำให้มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะผลิตรถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ 0% อาทิ แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า

 ถึงแม้ตอนนี้หว่องยังไม่ตัดสินใจที่จะขายรถบีเอ็มดับเบิลยู แต่สิงคโปร์ ก็ให้คำมั่นที่จะผลักดันให้มีการใช้รถอีวี โดยเหลียว ทง จุง นักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์  ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่จริงจังกับการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์อีวีมากที่สุดชาติหนึ่งในอาเซียน