ฟิทช์คาด‘โควิด-19’ดันราคากาแฟเวียดนามพุ่ง

ฟิทช์คาด‘โควิด-19’ดันราคากาแฟเวียดนามพุ่ง

ฟิทช์ โซลูชันส์ ระบุว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเวียดนามส่งผลให้การขนส่งกาแฟไปทั่วโลกเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น และอาจทำให้ราคากาแฟยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงไปจนถึงปี 2565

เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับ2ของโลกกำลังรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงจนถึงขณะนี้ และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออก ส่งผลกระทบต่อการขนส่งกาแฟและสินค้าอื่นๆ ไปยังต่างประเทศ

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรเวียดนาม ระบุว่า ยอดส่งออกกาแฟของเวียดนามในเดือนส.ค.ลดลง 8.7% จากเดือนก.ค. แตะที่ระดับ 111,697 ตัน

ส่วนในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.ปีนี้ เวียดนามมียอดส่งออกกาแฟอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน ลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่รายได้จากการส่งออกกาแฟเพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกกาแฟที่ลดลงของเวียดนามและการผลิตกาแฟในประเทศอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ราคากาแฟทั่วโลกพุ่งขึ้น โดยข้อมูลจากเรฟินิทีฟ ระบุว่า ราคาสัญญากาแฟอาราบิก้าพุ่งขึ้น 45.8% แล้วในปีนี้ ขณะที่ราคาสัญญากาแฟโรบัสต้าพุ่งขึ้น 52.2%

ฟิทช์ โซลูชั่นส์  ระบุด้วยว่า บราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่สุดของโลกได้เผชิญกับภาวะน้ำค้างแข็งและความแห้งแล้งในพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟในโคลัมเบีย 

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ “mu” ในโคลัมเบีย อาจทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อไปอีกยาวนาน และภาวะขาดแคลนแรงงานก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตด้วย

ทั้งนี้ ฟิทช์ โซลูชันส์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคากาแฟอาราบิก้าในปี 2564 ขึ้นสู่ระดับ 1.60 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.35 ดอลลาร์/ปอนด์ และปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 1.50 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.25 ดอลลาร์/ปอนด์

ขณะที่ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ระบุว่า เวียดนาม ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน มีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว เพียง 1,465 ราย และมีผู้เสียชีวิต 35 ราย แต่ยอดผู้ป่วยสะสมของเวียดนามในตอนนี้ ยังคงเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 635,000 ราย นับจนถึงวันอังคาร(14 ก.ย.) ส่วนยอดเสียชีวิตจำนวนกว่า 15,900 ราย

 เวียดนาม ก็เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พยายามรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ขณะที่ข้อมูลจาก Our World in Data บ่งชี้ว่า ประชากรเวียดนามที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมีเพียง 5.7% เท่านั้น

  สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันจันทร์(13ก.ย.)ว่า ทางการเวียดนามประกาศขยายมาตรการคุมเข้มในนครโฮจิมินห์ ซิตี้ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจของเวียดนาม และศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ออกไปสองสัปดาห์ 

   เวียดนามมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก การระงับหรือเข้มงวดด้านการเคลื่อนย้ายสิ่งของและประชากร รวมทั้งการปิดโรงงานผลิตเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของประเทศ และท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อระบบการจัดหาสินค้าประเทศต่างๆในตลาดโลกตั้งแต่กาแฟ เสื้อผ้า ไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์

  บรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาแบรนด์ดังระดับโลกอย่างไนกี้ อันเดอร์ อาร์เมอร์ และลูลูเลมอน รวมทั้งผู้ผลิตชิปอย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานในเวียดนามชะงักงัน

  แต่ฟิทช์ โซลูชันส์ ก็มองว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในเวียดนามเริ่มบรรเทาลง เวียดนามอาจยกเลิกมาตรการเข้มงวดด้านต่างๆ เพราะฉะนั้นการส่งออกกาแฟของเวียดนามที่ประสบปัญหาจึงเป็นแค่เพียงปัญหาระยะสั้น

   “การสนับสนุนอุตสาหกรรมกาแฟของรัฐบาลจะช่วยให้การผลิตกาแฟรับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นน้อยลง โดยเฉพาะในหลายพื้นที่อย่างในละตินอเมริกา และในหลายประเทศของเอเชีย รวมทั้งโคลอมเบียและเวียดนาม ขณะที่การบริโภคกาแฟที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคก็เป็นปัจจัยบวกหนุนให้อุตสาหกรรมกาแฟอยู่รอดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิก27 ประเทศ และญี่ปุ่น ”ฟิทช์ โซลูชันส์ ระบุ