จัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงความท้าทายของทั่วโลก

จัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงความท้าทายของทั่วโลก

การจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงเป็นความท้าทายของทุกประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าผลผลิตวัคซีนโดยรวมจะอยู่ที่ 12,200 ล้านโดสภายในปลายเดือนธ.ค. มากกว่าจำนวน 11,300 ล้านโดส ที่จำเป็นเพื่อฉีดให้แก่ประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ให้ได้ 80%

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอรายงานเกี่ยวกับการจัดสรรปันส่วนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของทั่วโลกว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก โดยประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่มจี-7 ครอบครองวัคซีนในปริมาณมาก มีวัคซีนมากกว่าจำนวนผู้ที่ต้องรับการฉีด สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน

บรรดาผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 จะผลิตวัคซีนโดยรวมได้มากกว่า 12,000 ล้านโดสภายในปลายปี2564 ถือว่ามากพอที่จะครอบคลุมสัดส่วนของประชากรโลกที่จำเป็นสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ประเทศร่ำรวยมีวัคซีนในสต็อกเกินกว่า 1,000 ล้านโดสภายในปลายปีนี้ ขณะที่การเข้าถึงวัคซีนยังคงมีอย่างจำกัดในชาติกำลังพัฒนาแม้ว่าจะมีการเร่งผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้น

อ่านข่าว-โควิดวันนี้ สมุทรสาครติดเชื้อเพิ่ม 643 เสียชีวิตสะสม 719 ราย
 

“แอร์ฟินิตี” ผู้ให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์มีฐานดำเนินงานในสหราชอาณาจักร ระบุว่า ทั่วโลกผลิตวัคซีนได้ 6,100 ล้านโดสภายในปลายเดือนส.ค. ขณะที่การผลิตวัคซีนในขณะนี้ผลิตได้เดือนละ 1.5 ล้านโดส และคาดว่า ผลผลิตวัคซีนโดยรวมจะอยู่ที่ 12,200 ล้านโดสภายในปลายเดือนธ.ค.ปีนี้ มากกว่า 11,300 ล้านโดส ที่จำเป็นเพื่อฉีดให้แก่ประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ให้ได้ 80% 

จากตัวเลขคาดการณ์ที่ว่าผลผลิตวัคซีนโดยรวมจะอยู่ที่ 12,200 ล้านโดสนั้น จำนวน 6,500 ล้านโดสจะมาจากยุโรปและสหรัฐ ส่วนจีนจะอยู่ที่ 5,700 ล้านโดส ส่วนผลผลิตรายเดือนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านโดสในปีหน้า

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม7ประเทศมีวัคซีนส่วนเกินอยู่มาก โดยรวมแล้วปริมาณกว่า 300 ล้านโดส คาดว่าปริมาณวัคซีนในสต็อกที่เป็นส่วนเกินจะมากถึง 1,200 ล้านโดสภายในปลายปี ในจำนวนนี้รวมถึงปริมาณ 1,000 ล้านโดสที่ยังไม่ได้บริจาคให้แก่ประเทศใดๆ

 ถามตอนนี้คือประเทศร่ำรวยจะจัดสรรปันส่วนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นส่วนเกินให้แก่ประเทศยากจนได้อย่างไร และประเทศผู้รับวัคซีนจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารจัดการด้านการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศของตนได้อย่างไร

 ข้อมูลจาก "Our World in Data" ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักวิจัยจำนวนมาก รวมถึงบรรดานักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า 

การกระจายวัคซีนเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งนับจนถึงตอนนี้ มีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรทั่วโลกแล้วจำนวน 5,520 ล้านโดสในจำนวนนี้กำลังฉีดอยู่ในแต่ละเดือนที่ปริมาณ 1,000 ล้านโดส

 การศึกษาของแอร์ฟินิตี ครอบคลุมข้อมูลด้านการฉีดวัคซีนในสหรัฐ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป (อียู) แคนาดาและญี่ปุ่น ระบุว่า ประเทศเหล่านี้ยังคงต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอายุ12ปีและผู้มีอายุมากกว่า รวมทั้งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 80% โดยคาดว่า ญี่ปุ่นจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่เดือนต.ค.ที่จะถึงนี้

 ในส่วนของสหรัฐนั้นมีเจตน์จำนงในเรื่องนี้ชัดเจน โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา “แอนโธนี เฟาชี” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในสหรัฐระบุว่า เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการอนุมัติให้เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 ให้แก่ชาวอเมริกัน 

 บริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้ส่งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ขณะที่กระบวนการพิจารณาวัคซีนเข็มที่ 3 ของบริษัทโมเดอร์นาอาจล่าช้ากว่าเล็กน้อย เนื่องจากยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการยื่นเอกสาร

 เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ชาวอเมริกันในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ซึ่งเฟาชีระบุว่า การพิจารณาอนุมัติวัคซีนเข็มที่ 3 น่าจะเป็นไปตามกรอบเวลาดังกล่าว

 ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล บอกว่าเตรียมจัดส่งข้อมูลที่รวบรวมได้จากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 ในประเทศ ให้แก่เอฟดีเอ เพื่อประกอบการพิจารณา หลังจากอิสราเอลเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 ให้ผู้สูงอายุตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และพบว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ช่วยลดอัตราการป่วยหนักจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ ทั้งยังขยายโครงการครอบคลุมถึงกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

 ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐ(ซีดีซี)ระบุว่า ขณะนี้ชาวอเมริกันได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19แล้วในสัดส่วน 51% แต่เนื่องจากพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจำนวนมากจนส่งผลให้เตียงผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆมีไม่พอรองรับผู้ป่วย ประกอบกับมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปิดเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง

  แต่ไม่ได้มีเฉพาะสหรัฐประเทศเดียวที่เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เยอรมนี และฝรั่งเศสเตรียมเสนอการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่พลเมืองอาวุโส โดยเริ่มตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป 

  สหราชอาณาจักรก็กำลังพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้พลเมืองเช่นกัน ส่วนอิสราเองที่เป็นผู้นำโลกในด้านการฉีดวัคซีน ก็จัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนในประเทศไปแล้วจำนวนกว่า 1 ล้านโดส

  ญี่ปุ่น ซึ่งเจอปัญหาขาดแคลนวัคซีนและปัญหาอื่นๆเกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ครบโดส กำลังหาทางฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ชาวญี่ปุ่นเช่นกัน 

  “หากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพที่ต้องทำงานรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เราก็เตรียมให้บุคคลากรกลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น”ทาโร โคโนะ  รัฐมนตรีด้านปฏิรูปการบริหาร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการฉีดวัคซีน กล่าว

  ทั้งนี้ บุคคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่นเริ่มได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนก.พ.เพราะฉะนั้นหากได้รับการฉีดวัคซีนในเดือนต.ค.จะถือว่าได้รับการฉีดวัคซีนเป็นเดือนที่8