ส่องวิธี ‘อินเดีย’ จัดการ ‘Fake News’ แม้ในพื้นที่ล้าหลังที่สุดในประเทศ

ส่องวิธี ‘อินเดีย’ จัดการ ‘Fake News’ แม้ในพื้นที่ล้าหลังที่สุดในประเทศ

การจัดการข่าวปลอมของ Mewat หนึ่งในเขตของรัฐอินเดียตอนเหนือ เมืองล้าหลังที่ทั้งเมืองมีโทรทัศน์แค่ 27 เครื่อง แต่ก็ยังหนี "Fake News" เกี่ยวกับโควิด-19 ไม่พ้น

ต้องยอมรับว่า...การมีอยู่ของข่าวปลอม (Fake news) ถูกตระหนักถึงมากขึ้นตั้งแต่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทแก่ชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะข่าวปลอมในช่วงเวลาของสถานการณ์อ่อนไหว อย่างโรคระบาดโควิด-19 ที่มักจะมีการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลเท็จอย่างมหาศาล เช่น อาการของผู้ที่ติดโควิด การได้รับวัคซีนที่อาจจะทำให้เสียชีวิต เป็นต้น

ในเขต Mewat หนึ่งในเขตของรัฐอินเดียตอนเหนือ ก็กำลังประสบปัญหาข่าวปลอมอย่างหนัก (รวมถึงสถานการณ์ติดเชื้อด้วยเช่นกัน) แต่ว่าถ้าเป็นข่าวปลอมที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ยังพอสั่งลบได้ทันที แต่กับเมือง Mewat นี้ถูกนิยามว่าเป็นเมืองที่ล้าหลังที่สุดในอินเดีย

ดังนั้นแล้ว Fake news ที่เกิดขึ้นในเมืองนี้เป็นข่าวปลอมแบบปากต่อปาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนส่องวิธีการจัดการ “Fake News” ของอินเดียในช่วง “การระบาดโควิด’ แม้ในพื้นที่ห่างไกล นั้นทำอย่างไร และได้ผลแค่ไหนกันบ้าง

  • ไม่มีโซเซียลมีเดีย ก็หนีไม่พ้น Fake News

อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่า ไม่ว่าที่ไหนก็หนีไม่พ้น Fake news แม้ว่าในพื้นที่นั้นจะเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดียก็ตาม เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังมีการสื่อสาร ย่อมมีจุดผิดพลาด และช่องโหว่ให้สร้างข่าวปลอมแบบทั้งที่รู้ตัว หรือไม่รู้ตัว

พื้นที่ Mewat หรือในชื่อใหม่ Nuh เป็น 1 ใน 21 เขตของรัฐ Haryana ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย คือพื้นที่ที่ได้ชื่อว่า ล้าหลังที่สุดของประเทศอินเดีย ผู้คนในเมืองก็กำลังถูก Fake news เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 โจมตีอย่างหนัก โดยมีบ้านเพียง 27 ครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่ได้รับข่าวสารอย่างทั่วถึงและทันสถานการณ์

เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีทีวีและสมาร์ทโฟน สถานีวิทยุจึงเป็นช่องทางรับสารที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่เรื่องการกระจายข่าวสาร

ส่องวิธี ‘อินเดีย’ จัดการ ‘Fake News’ แม้ในพื้นที่ล้าหลังที่สุดในประเทศ

  • รู้จัก 90.4 Radio Mewat

เมื่อช่องทางหลักของการรับฟังข่าวสารผู้คนเมือง Mewat คือ การรับฟังวิทยุชุมชน สถานีวิทยุชุมชนดั้งเดิมของเมืองนี้คือ 90.4 MHz  Radio Mewat

Radio Mewat จัดตั้งมานานกว่า สิบปี ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะกระจายข่าวสารให้ประชาชนตระหนักรู้และเข้าใจในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่เรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ไปจนถึงเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ จนถึงปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่ส่งเสียงตามสายทุกวัน วันละ 2-5 ชั่วโมง และสามารถเข้าถึง 170 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 431 หมู่บ้าน 

แม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎห้ามวิทยุชุมชนเผยแพร่ข่าวสถานการณ์ปัจจุบันและประเด็นทางการเมือง แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด เจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิทยุชุมชนก็ให้ข้อมูลทุกวัน เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การสวมแมสก์ การเว้นระยะห่าง ตลอดจนแนวโน้มของสถานการณ์การระบาด นอกจากนี้ยังต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสู้กับ Fake News เช่น ฉีดวัคซีนโควิดแล้วอีกไม่นานจะเสียชีวิต ซึ่งสร้างความหวาดกลัวและทำให้ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยไม่ไปรับวัคซีน 

ส่องวิธี ‘อินเดีย’ จัดการ ‘Fake News’ แม้ในพื้นที่ล้าหลังที่สุดในประเทศ

  • การจัดการ Fake News ที่เรียบง่าย แต่เข้าถึง

ปัจจุบันมีผู้ฟังสถานีวิทยุ Mewat อยู่ราว 500,000 คน คุ้นเคยกับเสียงตามสายและเปิดรับสารต่างๆ จึงรู้เรื่องในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น 

Farheen ผู้ฟังวิทยุชุมชนที่ฝันอยากให้เสียงของเธอเป็นเสียงตามสายที่ใครๆ ก็คุ้นหู จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้เป็นพรีเซนเตอร์ของสถานีวิทยุชุมชนจริงๆ และได้เดินสายไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจสารพัดประเด็น โดยจะแบ่งกลุ่มคนในพื้นที่นั้นๆ ออกเป็นกลุ่มละ 10-15 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสื่อสารอย่างทั่วถึง-เข้าถึง ยิ่งในสถานการณ์โควิดระบาด Farheen รู้ว่ายังมีคนที่ไม่ได้รับวัคซีนอีกมาก จึงเข้าไปในบางพื้นที่เพื่อพูดคุย ซักถามดูว่า ชาวชุมชนเข้าใจเรื่องใดผิดไป เหตุใดจึงไม่ไปรับวัคซีน

เดิมที เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุจะลงพื้นที่ชุมชนอย่างสม่ำเสมอ Sohrab Khan ผู้จัดการของสถานีวิทยุ Radio Mewat บอกผ่านสื่อ The Print ว่า เป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่จะเปลี่ยนความคิดคน แต่เมื่อสถานีวิทยุชุมชนทำให้ผู้คนเริ่มเห็นถึงโรคระบาดที่ลุกลามรุนแรงและเข้าใจเรื่องวัคซีนโควิดว่า ไม่ได้อันตรายถึงชีวิตอย่างที่ลือกัน แต่วัคซีนเป็นเกราะสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันไม่ให้ติดโควิดแล้วอาการทรุดหนักหรือเสียชีวิต ชาวชุมชนรับฟังอย่างเข้าใจและเข้ารับการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น ความพยายามในการส่งเสียงและสารผ่านทางวิทยุอยู่หลายเดือน รวมถึงการลงพื้นที่จึงถือว่าคุ้มค่า

 

ที่มา : 

https://theprint.in/india/how-radio-mewat-helped-dispel-covid-myths-and-more-in-indias-most-backward-district/565055/ 

https://www.bbc.com/news/av/world-asia-india-57635763

https://www.springnews.co.th/spring-life/814295