‘เปรู’ เปิดประสิทธิภาพวัคซีน ‘ซิโนฟาร์ม’ ต้องฉีดเข็มกระตุ้น

‘เปรู’ เปิดประสิทธิภาพวัคซีน ‘ซิโนฟาร์ม’ ต้องฉีดเข็มกระตุ้น

ท่ามกลางการแพร่ระบาดสายพันธุ์แลมบ์ด้าสูง วัคซีนโควิด-19 ของซิโนฟาร์ม ชนิดสองโดส มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรแพทย์เปรู 50.4% และอาจต้องพิจารณาฉีดเข็มกระตุ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานในวันนี้ว่า นักวิทยาศาสตร์สถาบันสุขภาพแห่งชาติเปรู ร่วมกับสถาบันวิจัยอีก 2 แห่ง ได้ทำการศึกษาข้อมูลวัคซีนที่ชื่อว่า BBIBP-CorV บริษัทซิโนฟาร์มของจีน ซึ่งฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์จำนวน 400,000 คน ตั้งแต่เดือน ก.พ. - มิ.ย. ถือเป็นช่วงเวลาที่เปรู ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง จากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์สายพันธุ์แลมบ์ด้า  และแกมมา 

จากการศึกษาดังกล่าว บุคลากรการแพทย์ส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 สองโดส 

รายงานการศึกษาระบุว่า แม้มีคนจำนวนมากได้รับวัคซีนสองโดส แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ไม่สูงนัก ท่ามกลางระบาดหนักแลมบ์ด้า อาจต้องพิจารณาฉีดเข็มสาม เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพ 94% ในการป้องกันการเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนครบโดส

ขณะที่บางประเทศ ทั้งกัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น ให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 

ลอลี โซลารี หนึ่งในเจ็ดผู้ทำการศึกษาครั้งนี้ กล่าวกับรอยเตอร์สว่า สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด คือต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแน่นอน และเกิดคำถามต่อไปว่า เมื่อใดเป็นช่วงที่ดีที่สุด ต้องฉีดเข็มสาม และจะเป็นวัคซีนประเภทใด

162885737472

โซลารี กล่าวย้ำว่า แม้ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์ม จะต่อต้านการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ยังเป็นที่ยอมรับภายใต้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)

ในรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์มแสดงประสิทธิภาพ 78.1% ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขของเปรูยืนยันว่า ลดการเสียชีวิตได้ถึง 98%