กต. ชี้ เส้นขนส่งสินค้าทางบกไทย - ลุ่มน้ำโขง เปิดปกติ ไม่กระทบโควิด

กต. ชี้ เส้นขนส่งสินค้าทางบกไทย - ลุ่มน้ำโขง เปิดปกติ ไม่กระทบโควิด

โฆษก กต. ย้ำบทบาทไทย ในกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ชี้ มีเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกยังปกติ ขณะที่เส้นทางขนส่งสินค้าลำน้ำโขง ในบางแห่งปิด สกัดระบาดไวรัส

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับบทบาทของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะพัฒนาการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า  ไทยได้มีบทบาทสำคัญในลุ่มน้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง และช่วยพลิกฟื้น ACMECS ให้มีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ภายหลังก่อตั้งมา 19 ปี

สำหรับสถานการณ์การค้า การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนและประเทศลุ่มน้ำโขงอื่นๆ ในช่วงโควิด-19 การขนส่งสินค้าทางบกยังทำได้ปกติทั้งเส้นทาง R3A (ไทย-ลาว-จีน) ซึ่งซ่อมแซมประจำปีก่อนฤดูฝนแต่ยังสัญจรได้ และเส้นทาง R8 R9 R12 (ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เพิ่งมีพิธีนำเข้าผลไม้ไทยผ่าน “ด่านทางบกตงซิง” สู่จีนเป็นครั้งแรกด้วย ส่วนการขนส่งทางลำน้ำโขง ท่าเรือบางประเทศอาจปิดเพราะเป็นมาตรการป้องกันโควิด-19 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องปฏิญญาซานย่า และการขุดลอกแม่น้ำโขงนั้น นายธานี กล่าวย้ำว่า ปฏิญญาซานย่าเป็นปฏิญญาระดับผู้นำที่รับรองในที่ประชุม MLC ครั้งแรกที่ไหหลำ จีน เมื่อ 5 ปีก่อน ประเทศสมาชิกรับรองโดยไม่ต้องมีการลงนาม โดยครอบคลุมความร่วมมือหลากหลายด้าน แต่ไม่มีเรื่องการขุดลอกแม่น้ำโขง

ไทยได้ดำเนินนโยบายอย่างสมดุลกับหุ้นส่วนภายนอกผ่านกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สำคัญ ทั้งกับจีน (Mekong - Lancang Cooperation-MLC) สหรัฐ (Mekong - U.S. Partnership ที่ยกระดับมาจาก Lower Mekong Initiative) ญี่ปุ่น (Mekong - Japan Cooperation) อินเดีย (Mekong - Ganga Cooperation) และเกาหลีใต้ (Mekong-ROK Cooperation)

ผู้สื่อข่าวถามว่า จีนมองว่า ACMECS ซ้ำซ้อนกับ MLC หรือไม่ นายธานี กล่าวว่า จีนมองประโยชน์ที่เสริมกันที่สร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติให้กับอนุภูมิภาคและภูมิภาคโดยรวม โดยภายใต้กรอบ MLC จีนสนับสนุนเงินจากกองทุน MLC สำหรับจัดทำการศึกษา feasibility study โครงการ cross-border e-commerce ระหว่างจีน-ลาว-ไทย และยังให้ความร่วมมือเรื่องการให้ข้อมูลเรื่องน้ำด้วยดีระดับหนึ่ง อันถือเป็นความสำเร็จสำคัญ