'ปฏิรูปภาษี-ไวรัสกลายพันธุ์'ภารกิจหินขุนคลังจี20

'ปฏิรูปภาษี-ไวรัสกลายพันธุ์'ภารกิจหินขุนคลังจี20

'ปฏิรูปภาษี-ไวรัสกลายพันธุ์'ภารกิจหินขุนคลังจี20 ขณะที่แถลงการณ์ของจี20 ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันอย่างมากและยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ที่ประชุมจี20 ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจ บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นให้มีการจัดเก็บภาษีนิติบุคลทั่วโลกขั้นต่ำ (จีเอ็มที)ที่อัตรา 15% รวมทั้งกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะบังคับใช้ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ

การเจรจาต่อรองที่ใช้เวลานานถึง 8 ปีสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศที่จะเพิ่มรายได้ เพื่อนำรายได้มาฟื้นฟูประเทศหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งความเบื่อหน่ายที่มีต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่คาดว่า จะเลี่ยงภาษีด้วยการใช้ประโยชน์จากประเทศที่เก็บภาษีในระดับต่ำ

เอกสารที่มีการเผยแพร่ภายหลังการประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี ระบุว่า ที่ประชุมได้รับรองในองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ ของข้อตกลงที่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 130 ประเทศได้บรรลุร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นภาษีนิติบุคคล

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของข้อตกลงนี้ยังต้องดำเนินการสรุปต่อไปโดยประเทศที่เข้าร่วมเจรจาต่อรองตั้งเป้าว่า จะนำกฎเกณฑ์ใหม่นี้มาใช้ในปี 2566

ประเทศจี20 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของโลก มีสัดส่วนประมาณ 75% ของปริมาณการค้าโลก และมีประชากรในสัดส่วนประมาณ 60% ของประชากรโลก

นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า ระบบภาษีสากลจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในรอบศตวรรษ

บรรดารัฐมนตรีและผู้ว่าธนาคารกลางกลุ่มประเทศจี20 ยอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้นในขณะที่มีการฉีดวัคซีนและมีการสนับสนุนด้านนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เตือนด้วยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์และการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันถือเป็น ความเสี่ยงช่วงขาลง

“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีลักษณะแตกต่างกันอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังคงมีความเสี่ยงด้านลบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีที่มาจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และอัตราการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ” แถลงการณ์ของจี 20 ระบุ

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่เกิดขึ้นในวันนี้จะมีผลบังคับใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่จะจัดขึ้นในกรุงโรม ประเทศอิตาลีในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ของบรรดารัฐมนตรีคลังที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ว่าจะผลักดันให้เหล่าผู้นำกลุ่มจี20 ลงนามรับรองข้อตกลงนี้ได้ทันก่อนการประชุมสุดยอดในเดือนต.ค.

ด้าน“อันโดนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้ที่ประชุมจี20 ช่วยแก้ปัญหาเรื่องช่องว่างในการฉีดวัคซีนโควิด-19 การบรรเทาหนี้สินให้กับประเทศกำลังพัฒนา และการดำเนินการในเรื่องบรรยากาศด้านการเงิน

เลขายูเอ็นยังย้ำถึงเรื่องแผนการฉีดวัคซีนทั่วโลก ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตวัคซีนให้ได้อย่างน้อยอีก 2 เท่า และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันโดยใช้แพลตฟอร์มโคแว็กซ์

กูเตอร์เรส กล่าวด้วยว่า ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากกำลังจะผิดนัดชำระหนี้ ตนเองจึงขอเรียกร้องให้กลุ่มจี20 ขยายระยะเวลาของโครงการพักชำระหนี้และกรอบการดำเนินการเรื่องหนี้สิน เพื่อให้ครอบคลุมประเทศที่มีรายได้ปานกลางและเปราะบาง รวมทั้งประเทศกำลังกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กด้วยเช่นกัน

สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เลขาฯยูเอ็น แสดงความเป็นห่วงในเรื่องความล่าช้าเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนด้านการเงินกับการแก้ปัญหาโลกร้อน และเรียกร้องให้กลุ่มจี20 จัดสรรเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับประเทศกำลังพัฒนาตามที่ได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อปี 2552

ส่วน“เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซีว่าขณะนี้มี 130 ประเทศที่เห็นชอบกับการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำระดับโลกกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจโลก

สหรัฐ ร่วมการแข่งขันด้านภาษีระหว่างประเทศมานานหลายสิบปี และได้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่งผลให้ประเทศอื่นต้องปรับลดตาม ทำให้เกิดการแข่งขันว่าประเทศใดปรับลดภาษีได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งไม่ส่งผลดีกับทุกประเทศ และการที่อัตราภาษีทั่วโลกลดลงอย่างมาก ทำให้เกิดข้อตกลงจีเอ็มทีขึ้น ซึ่งล่าสุดมี 130 ประเทศที่เห็นชอบกับข้อตกลงนี้

เยลเลน กล่าวด้วยว่า ประเทศเล็กๆ ไม่กี่ประเทศยังคงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศที่เก็บภาษีต่ำ เช่น ไอร์แลนด์และฮังการี แต่ก็เชื่อว่าประเทศเหล่านี้จะเข้าร่วมข้อตกลงในที่สุด

ในส่วนของฝรั่งเศส “บรูโน เลอ แมร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส มีความเห็นว่าประเทศต่างๆควรเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆในอัตรา 25% ไม่ว่าบริษัทข้ามชาติเหล่านี้จะมีรายได้เท่าใด

ด้าน“โอลาฟ โชลซ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนียืนยันว่าเศรษฐกิจจี20 ทั้งหมดอยู่ในข้อตกลงด้านการปฏิรูปภาษีนี้เพราะฉะนั้นหากผลักดันให้เกิดการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลอย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในจี20