ฟินแลนด์‘ขาดแคลนแรงงาน’ ความทุกข์ของประเทศสุข

ฟินแลนด์‘ขาดแคลนแรงงาน’   ความทุกข์ของประเทศสุข

ฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่า มีความสุขที่สุดในโลก แต่ความจริงแตกต่างจากในรายงานข่าว

ฟินแลนด์ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดบนผืนพิภพมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยมาตรฐานชีวิตยิ่งกว่าเวิลด์คลาส หลายคนคงคิดว่า ใครๆ คงอยากย้ายประเทศมาอยู่ฟินแลนด์ แต่เอาเข้าจริงกลับตรงข้าม ประเทศนี้กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเฉียบพลัน

“ตอนนี้ก็รู้กันทั่วล่ะนะว่า เราอยากได้คนจำนวนมากเข้าประเทศ” ซากู ทิห์เวอไรเนน จากบริษัทจัดหางาน “ทาเลนท์ โซลูชันส์” เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี พร้อมอธิบายว่า กำลังแรงงานเป็นสิ่งที่ฟินแลนด์ต้องการเพื่อชดเชยกับประชากรสูงวัย

ขณะที่ประเทศตะวันตกหลายประเทศกำลังแก้ปัญหาประชากรเติบโตน้อยลง มีไม่กี่ประเทศกำลังเผชิญปัญหานี้อย่างเฉียบพลันอย่างฟินแลนด์ ด้วยอัตราประชากรอายุเกิน 65 ปี 39.2 คน ต่อประชากรวัยทำงาน 100 คน ข้อมูลจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ประชากรสูงวัยของฟินแลนด์เป็นรองแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น คาดว่าภายในปี 2593 อัตราการเป็นภาระในวัยสูงอายุจะเพิ่มเป็น 47.5

รัฐบาลเตือนว่า ประเทศฟินแลนด์ที่มีประชากร 5.5 ล้านคนจำเป็นต้องมีระดับการย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นสองเท่ามาอยู่ที่ 20,000-30,000 คนต่อปี เพื่อรักษาการบริการสาธารณะให้คงอยู่และเติมเต็มการขาดดุลเงินบำนาญที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ถ้าดูเฉพาะในกระดาษ ฟินแลนด์อาจดูเหมือนประเทศน่าอยู่ ได้คะแนนสูงหลายด้านเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพชีวิต เสรีภาพ ความเสมอภาคทางเพศ การทุจริต อาชญากรรม และเป็นประเทศมลพิษน้อย

แต่ความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพและไม่อยากจ้างงานคนนอกก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศยุโรปตะวันตกที่สังคมมีความคล้ายคลึงกันสูงมาก และพรรคฝ่ายค้านขวาจัดอย่างพรรคฟินส์ก็มักยกประเด็นนี้มาหาการสนับสนุนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

จุดพลิกผัน

ชาร์ลส์ แมเทียส นักวิจัยรับเชิญจากสถาบันฟินแลนด์กล่าวว่า หลังจากเฉื่อยชามาหลายปี ตอนนี้ภาคธุรกิจและรัฐบาลกำลังถึงจุดเปลี่ยน หันมายอมรับปัญหาจากสังคมสูงวัย

แมเทียสเป็นหนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาโครงการ “เพิ่มคนเก่ง” ของรัฐบาลฟินแลนด์ ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ใช้การรับสมัครงานดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาฟินแลนด์ กลุ่มเป้าหมายมีทั้ง บุคลากรสายสาธารณสุขจากสเปน คนงานเหล็กจากสโลวะเกีย ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและทะเลจากรัสเซีย อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความพยายามที่เคยทำมากลับมอดไป

ในปี 2556 พยาบาล 8 คนที่คัดสรรมาทำงานในเมืองวาซาทางตะวันตกของฟินแลนด์ อยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ลาออกไป 5 คน อ้างว่า ค่าครองชีพฟินแลนด์สูงมาก อากาศหนาว อีกทั้งภาษาก็พูดยาก

กระนั้น ในช่วง 10 ปีหลังฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีผู้ย้ายถิ่นเข้ามามากกว่าย้ายออก ปี 2562 มีอพยพมาอยู่มากกว่าคนที่ย้ายออกไปราว 15,000 คน แต่ตัวเลขทางการระบุว่า คนที่ย้ายออกไปเป็นคนมีการศึกษาสูง

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานมีทักษะมากที่สุดในกลุ่มองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) สตาร์ทอัพฟินแลนด์บางแห่งร่วมกันสร้างเว็บไซต์รับสมัครงานเพื่อรวมคนเก่งจากต่างประเทศให้ได้มากยิ่งขึ้น

“อย่างที่คุณนึกภาพออก นี่เป็นกระบวนการที่ช้า เราพยายามทำให้การย้ายถิ่นราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้” ชาอุน รัดเดน จากบริษัทขนส่งอาหาร “โวลต์” ให้ความเห็น

ปัญหาเชิงระบบ

“สตาร์ทอัพบอกผมว่า เขาสามารถรับใครก็ได้ในโลกนี้เข้ามาแล้วทำงานให้ในเฮลซิงกิ ตราบเท่าที่เขาหรือเธอยังโสด แต่สำหรับคนที่แต่งงานแล้ว คู่สมรสของพวกเขาต้องประสบกับปัญหาใหญ่เรื่องการได้งานดีๆ ทำ” แจน วาพาโวรี นายกเทศมนตรีเฮลซิงกิกล่าว

ชาวต่างชาติหลายคนบ่นว่า คนฟินแลนด์ยังไม่ค่อยยอมรับชาวต่างชาติผู้มีประสบการณ์หรือมีคุณสมบัติเหมาะสม และมีอคติกับผู้สมัครงานที่ไม่ใช่ชาวฟินแลนด์

อาเหม็ด (ผู้ขอให้ใช้นามสมมุติด้วยเหตุผลด้านอาชีพการงาน) ชาวอังกฤษวัย 42 ปี ที่มีประสบการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลให้กับบริษัทข้ามชาติชื่อดังมานานหลายปี เขาย้ายมาอยู่เฮลซิงกิด้วยเหตุผลด้านครอบครัว ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าไร้ผลเพราะสมัครงานมา 6 เดือนแล้วยังไม่ได้

“ตอนที่นายหน้าไม่ยอมจับมือกับผมเป็นโมเมนต์ที่ชวนอึ้งมาก ที่นี่ไม่เคยขาดแคลนแรงงานหรอก แค่ขาดแคลนใจเท่านั้น” อาเหม็ดกล่าว ระหว่างที่เขาหางานในฟินแลนด์นั้นบริษัทใหญ่ในนอร์เวย์ กาตาร์ สหราชอาณาจักร และเยอรมนีก็ติดต่อมา สุดท้ายแล้วต้องใช้วิธีอยู่เฮลซิงกิแต่ไปทำงานที่ดัสเซลดอร์ฟในเยอรมนี เดินทางไปกลับทุกสัปดาห์

ด้านนายหน้ารับสมัครงานอย่างซากู ทิห์เวอไรเนนกล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานผลักดันให้บริษัทต้องผ่อนความตั้งใจเดิมที่จะจ้างงานเฉพาะแรงงานฟินแลนด์ลง

“อย่างไรก็ตาม บริษัทและองค์กรฟินแลนด์จำนวนมาก ยังยืนยันหนักแน่นเรื่องจ้างคนฟินแลนด์ และต้องเชี่ยวชาญภาษาฟินแลนด์อย่างมาก”

ในทัศนะของนายกเทศมนตรีเฮลซิงกิอย่าง แจน วาอาวัวรี 4 ปีที่ฟินแลนด์ได้รับเลือกในสหประชาชาติให้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก“ยังช่วยได้ไม่มากอย่างที่หวัง”

“ถ้าคุณถามคนเดินถนนในปารีส ลอนดอน โรม หรือนิวยอร์ก ผมยังไม่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักเรา” นายกเทศมนตรีกล่าวติดตลก วาระ 4 ปีของเขาจะสิ้นสุดในฤดูร้อนนี้ เขาจึงเข้าไปพึ่งบริษัทประชาสัมพันธ์ต่างชาติมากขึ้นๆ เพื่อช่วยเพิ่มชื่อเสียงของเฮลซิงกิ

เขาเชื่อมั่นในความสามารถของฟินแลนด์ที่จะดึงดูดคนเก่งจากเอเชียมาได้ในอนาคต และเชื่อว่าการให้ความสำคัญของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นหลังโควิด

“ความแข็งแกร่งของเฮลซิงกิคือ ปลอดภัย ใช้งานได้จริง เชื่อถือได้ คาดการณ์ได้ คุณค่าเหล่านี้มีความสำคัญมากขึ้น จริงๆ แล้วผมคิดว่าสถานะของเราหลังโควิดดีกว่าเมื่อก่อนเสียด้วยซ้ำ” นายกเทศมนตรีตอกย้ำจุดแข็ง