อนามัยโลกชี้‘ทำงานยาว’ตัวคร่าชีวิตแรงงาน

อนามัยโลกชี้‘ทำงานยาว’ตัวคร่าชีวิตแรงงาน

ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า ชั่วโมงการทำงานยาวนานที่คร่าชีวิตประชาชนปีละเป็นแสนๆ คน อาจยิ่งเลวร้ายลงอีกในช่วงโควิดระบาด

ผลการศึกษาชิ้นแรกของโลกจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ว่าด้วยการเสียชีวิตจากการทำงานนานหลายชั่วโมง เผยแพร่ในวารสาร“สิ่งแวดล้อมนานาชาติ” (Environment International) พบว่า ในปี 2559 ประชาชน 745,000 คน เสียชีวิตจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตกและโรคหัวใจเกี่ยวข้องกับทำงานยาวนานหลายชั่วโมง ตัวเลขเพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากปี 2543

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ (72%) เป็นผู้ชายในวัยกลางคนหรือสูงวัยกว่า บ่อยครั้งเสียชีวิตหลังจากทำงานไปแล้วหลายสิบปี แรงงานที่ใช้ชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเขตแปซิฟิกตะวันตก ที่ตามนิยามของดับเบิลยูเอชโอรวมจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลียด้วย ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ในภาพรวม การศึกษาที่เก็บข้อมูลจาก 194 ประเทศ พบว่า การทำงานสัปดาห์ละ 55 ชั่วโมงหรือมากกว่า ทำให้เสี่ยงเส้นโลหิตในสมองแตกสูงขึ้น 35% เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับคนทำงานสัปดาห์ละ 34-40 ชั่วโมง

นางสาวมาเรีย นีรา ผู้อำนวยการแผนกสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า การทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่า เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ เมื่อทราบข้อมูลนี้แล้วก็ต้องลงมือทำเพื่อปกป้องผู้ใช้แรงงานให้ได้มากขึ้น

งานชิ้นนี้ศึกษาตั้งแต่ปี 2543-2559 ไม่รวมช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เจ้าหน้าที่ดับเบิลยูเอชโอกล่าวว่า การทำงานทางไกลมากขึ้นและเศรษฐกิจโลกชลอตัวลงจากมาตรการเร่งด่วนรับมือไวรัส อาจทำให้เสี่ยงสูงขึ้น การระบาดของโควิดกำลังเร่งกระแสทำงานมากชั่วโมงขึ้น ดับเบิลยูเอชโอประเมินว่า ประชาชนอย่างน้อย 9% มีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่าเดิม

แม้แต่เจ้าหน้าที่ดับเบิลยูเอชโอ รวมทั้งนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า พวกเขาทำงานนานขึ้นในช่วงโควิดระบาด ซึ่งดับเบิลยูเอชโอพยายามหาทางปรับปรุงนโยบายหลังทราบผลการศึกษาชิ้นนี้

ขณะที่นายแฟรงค์ เพกา เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า การลดชั่วโมงการทำงานลงจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง เพราะมีผลการศึกษาระบุว่า ช่วยให้ผลิตภาพของพนักงานเพิ่มขึ้น

 “การไม่เพิ่มชั่วโมงการทำงานให้ยาวนานขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจถือเป็นตัวเลือกที่ชาญฉลาดอย่างแท้จริง” เจ้าหน้าที่รายนี้ย้ำ