'นาซา' จำลองเหตุการณ์ 'ดาวเคราะห์น้อย' ชนโลกใน 6 เดือน

'นาซา' จำลองเหตุการณ์ 'ดาวเคราะห์น้อย' ชนโลกใน 6 เดือน

นักวิทยาศาสตร์ "นาซา" เผยผลสรุปจาก "แบบจำลอง" ชื่อ "2021 PDC" กรณี "ดาวเคราะห์น้อย" ขนาดยักษ์พุ่งชนโลกชี้ หากเกิดขึ้นจริง ชาวโลกมีเวลา 6 เดือนในการรับมือเหตุการณ์นี้

ผลการศึกษาที่อ้างอิงจากสมมติฐานขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ ซึ่งมีวงโคจรที่จะพุ่งชนโลกและกำลังอยู่ในระยะห่างจากโลก 35 ล้านไมล์ โดยนาซาใช้เวลา 4 วันคือช่วงวันที่ 26-29 เม.ย. ที่ผ่านมาในการจำลองเหตุการณ์ และนักดาราศาสตร์ใช้ทั้งระบบเรดาร์ ข้อมูลภาพและเทคโนโลยีหลายอย่าง รวมทั้งใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่

การจำลองเหตุการณ์ของนาซาวันที่ 1 คือวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกแค่ 5% ในวันที่ 20 ต.ค.ที่จะถึง ส่วนการจำลองวันที่ 2 คือวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลก 100% ในบริเวณยุโรป หรือตอนเหนือของทวีปแอฟริกา

การจำลองเหตุการณ์วันที่ 3 คือวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เฝ้าติดตามทุกคืน พร้อมทั้งปรับแต่งวงโคจรให้แคบลง พบว่ามีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกพิกัดประเทศเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย สโลเวเนีย และโครเอเชีย

ส่วนการจำลองเหตุการณ์วันที่ 4 คือวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งเหลือแค่ 6 วัน ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลก และในขณะนี้ดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 3.9 ล้านไมล์ พบว่าดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเล็กกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า จึงลดขนาดพื้นที่ที่มีโอกาสจะถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนให้แคบลง เหลือเพียงบริเวณพรมแดนประเทศเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก และออสเตรีย

พร้อมทั้งกำหนดให้มีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลกในภูมิภาคนี้ 99%

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ในทีมงาน เสนอให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์สกัดการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อย แต่ผลจากการจำลองสถานการณ์ครั้งนี้พบว่า มีอุปสรรคหลายด้าน และถ้าใช้อาวุธระเบิดนิวเคลียร์พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 114 ฟุต จนถึง 800 เมตร จะทำลายดาวเคราะห์น้อยได้เพียงเล็กน้อย ประกอบกับยังไม่แน่ชัดว่าระเบิดนิวเคลียร์ขนาดไหนจึงสามารถจะสกัดดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้