เมื่อ ‘คลองสุเอซ’ กลายเป็น ‘คลองตัน’ ปัญหานี้มีทางออกอย่างไร?

เมื่อ ‘คลองสุเอซ’ กลายเป็น ‘คลองตัน’ ปัญหานี้มีทางออกอย่างไร?

ปฏิบัติการกู้เรือขนสินค้า “เอเวอร์ กิฟเวน” ขนาดยักษ์ที่ถูกพายุทรายพัดจนเกยตื้นขวาง “คลองสุเอซ” ล่วงเลยมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ขณะที่เรือขนส่งสินค้านับร้อยกำลังรอผ่านทางดังกล่าว ส่งผลกระทบถึงซัพพลายเชนทั่วโลก ปัญหานี้จะแก้ได้อย่างไร

เรือเอเวอร์กิฟเวน (Ever Given) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 3 ชาติ เพราะถือธงปานามา, มีบริษัทโชเอ ไคเซ็นของญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ และดำเนินการโดยบริษัทเอเวอร์กรีน (Evergreen) ของไต้หวัน ลอยขวางคลองสุเอซของอียิปต์ตั้งแต่วันอังคาร (23 มี.ค.) หลังถูกกระแสลมแรงจากพายุฝุ่นพัดจนแล่นชนฝั่ง

เรือลำนี้มีขนาดยาวเท่า 4 สนามฟุตบอลหรือ 400 เมตร กว้าง 59 เมตร และขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 224,000 ตัน การที่เรือยักษ์ลำนี้ขวางคลองที่กว้างไม่เกิน 200 เมตรมานานหลายวันแล้ว จึงตามมาด้วยปัญหาใหญ่มากมาย เนื่องจากการสัญจรอยู่ทั้งขาขึ้นขาล่องในคลองสุเอซซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก กลายเป็นอัมพาตในทันที

1616926892100

โอซามา เรบี ประธานองค์การคลองสุเอซของอียิปต์ ระบุว่า นับถึงวันเสาร์ (27 มี.ค.) มีเรืออย่างน้อย 321 ลำทั้งบริเวณตอนเหนือและตอนใต้ที่กำลังรอเดินทางผ่านคลองสุเอซ

 

  • ทำไมคลองสุเอซถึงสำคัญ

คลองสุเอซถูกขุดและปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยมาแล้วหลายครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกเรือใหม่ต่าง ๆ ตั้งแต่เปิดให้เรือสัญจรได้เมื่อปี 2412 และปัจจุบัน 10-12% ของปริมาณการค้าทั่วโลกล้วนต้องขนส่งสินค้าผ่านทางน้ำสายนี้

เส้นทางนี้ช่วยย่นระยะทางระหว่างเอเชียกับยุโรปได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่น เส้นทางสิงคโปร์-ร็อตเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) เมื่อผ่านคลองสุเอซจะมีระยะทางราว 6,000 กม. และช่วยให้เดินทางถึงเร็วกว่าไปอ้อมทวีปแอฟริกาถึง 2 สัปดาห์

คามิลล์ อีกลอฟฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางทะเลของบริษัทบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ระบุว่า คลองสุเอซเป็นเส้นทางที่ “สำคัญอย่างยิ่ง” เนื่องจากการสัญจรทั้งหมดทั้งเข้า-ออกเอเชียจะผ่านที่นี่

“หากไม่ผ่านคลองนี้ จะต้องเดินเรือไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทางใต้สุดของแอฟริกา”

ในปี 2558 คลองสุเอซมีการขุดขยายอีกครั้ง เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่อย่างเรือที่บริษัทเอเวอร์กรีนใช้เป็นประจำในเส้นทางนี้

นอกจากนี้ อียิปต์ยังมีโครงการขุดขยายคลองสุเอซให้กว้างขึ้นอีก 2 เท่าภายในปี 2566 เพื่อให้รองรับเรือเพิ่มเป็นประมาณ 100 ลำต่อวัน เทียบกับ 50 ลำต่อวันในปัจจุบัน

 

  • 3 ทางออกที่เป็นไปได้

ทางออกแรกที่ถูกนำมาใช้ในการกู้เรือยักษ์เอเวอร์กิฟเวนคือการใช้เรือลากจูง

ขณะนี้เจ้าหน้าที่องค์การคลองสุเอซของอียิปต์และเอกชนพยายามใช้เรือลากจูงจำนวนหนึ่งที่อยู่ทั้งสองด้านของตัวเรือยักษ์เอเวอร์กิฟเวน ดึงหัวดังท้ายเรือเกยตื้นอยู่เพื่อให้ขยับพ้นฝั่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้รถขุดดินช่วยเพิ่มพื้นที่ริมสองฝั่งคลองเพื่อให้หัวเรือขยับได้มากขึ้น

161692677728
- เจ้าหน้าที่เร่งขุดดินริมคลองเพื่อช่วยให้เรือยักษ์ขยับได้ -

อย่างไรก็ตาม ซัล เมอร์โคยาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเดินเรือจากมหาวิทยาลัยแคมป์เบลล์ในสหรัฐ ระบุว่า เนื่องจากดินโคลนและทรายริมสองฝั่งคลองอัดแน่นมาก ความพยายามขยับเรือจึงยังไม่ประสบความสำเร็จจนถึงตอนนี้

ขณะที่บริษัท Bernhard Schulte Shipmanagement (BSM) ที่ดำเนินการเรือลากจูงเผยว่า จะนำเรือลากจูงมาเพิ่มอีก 2 ลำในวันอาทิตย์ (28 มี.ค.) เพื่อเดินหน้าปฏิบัติการกู้เรือครั้งนี้ต่อไป

หากวิธีลากจูงเรือไม่ได้ผล ทางออกต่อมาคือ การขุดลอกคลอง

บริษัทเจ้าของเรือเอเวอร์กิฟเวนได้จ้าง “โบสกาลิส” (Boskalis) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญด้านการกู้เรือให้มาช่วยองค์การฯ ทำภารกิจกู้คืนเรือลำดังกล่าว ด้วยการใช้เรือขุดลอกดินทรายบริเวณใต้หัวเรือ

เมอร์โคยาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ ระบุว่า เรือขุดลอกมีให้เห็นบ่อยอยู่แล้วในคลองสุเอซ โดยมักใช้ขุดลอกคลองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เรือสัญจรผ่านไปได้ตลอดเวลา

“เรือจะใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ขุดลงไปใต้น้ำและตักดินขึ้นมาจากก้นคลอง ซึ่งดินเหล่านี้ก็สามารถนำไปถมบนฝั่งได้”

อย่างไรก็ตาม ปีเตอร์ เบอร์ดาวสกี ซีอีโอของโบสกาลิสบอกว่า การขุดลอกอย่างเดียวก็ยังไม่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้

161692679689
- ภาพจากดาวเทียมเมื่อวันที่ 26 มี.ค. เผยให้เห็นเรือสินค้าที่กำลังรอผ่านคลองสุเอซ -

“อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กว่าจะกู้เรือลำนี้กลับมาได้ โดยต้องใช้ทั้งวิธีลากจูง ขุดลอก และขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากเรือ ไปพร้อม ๆ กัน”

 

  • ย้ายตู้สินค้า “มีความเสี่ยง”

การจะทำให้เรือน้ำหนักกว่า 200,000 ตันขยับได้ง่ายขึ้น วิธีการย้ายตู้สินค้าออกจากเรือเพื่อลดน้ำหนักของเรือเอเวอร์กิฟเวนก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน แต่นั่นต้องรวมถึงการดูดน้ำมันออกจากเรือด้วย เพื่อให้ไม่ต้องย้ายตู้สินค้าที่มีน้ำหนักเบาออกมาโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม การย้ายตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากด้วยเครนนั้น ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก นอกจากความยุ่งยากเกี่ยวกับการหาจำนวนเครนที่เหมาะสมกับเรือแล้ว กระบวนการย้ายสินค้าก็อาจสร้างความเสียหายหรือแม้แต่ทำให้เรือเสียความสมดุลได้

“คุณจะต้องนำรถเครนลอยน้ำขนาดใหญ่ แต่อะไรก็ตามที่คุณทำตอนนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าการทรงตัวในคลองของเรือจะได้รับผลกระทบขนาดไหน” เมอร์โคยาโนกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เตือนด้วยว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือ เรือเอเวอร์กิฟเวนอาจถึงขั้นหักครึ่งระหว่างการเคลื่อนย้าย เนื่องจากน้ำหนักตู้สินค้าบนเรือไม่สมดุลกัน

--------

อ้างอิง: BBC, AFP, CNBC