ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก‘ไทยพุ่ง 4 อันดับ’

ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก‘ไทยพุ่ง 4 อันดับ’

ไทยทำผลงานดีด้านนวัตกรรม ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กประจำปี 64 จัดให้อยู่ในอันดับ 36 ดีขึ้น 4 อันดับ เกาหลีใต้กลับมาทวงแชมป์ สหรัฐถูกยุโรปเบียดจนหลุดท็อปเท็น

ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กประจำปี 2564 จัดอันดับ 60 เขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุด พิจารณาจาก 7 เกณฑ์ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับ 36 ดีขึ้น 4 อันดับจากปี 2563 ได้คะแนนรวม 65.42 เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์แต่ละข้อความเข้มข้นด้านอาร์แอนด์ดี ได้ 36 คะแนนการผลิตมูลค่าเพิ่ม 18 คะแนนผลิตภาพ 52 คะแนนความหนาแน่นของไฮเทค 33 คะแนน ประสิทธิภาพตติยภูมิ (วัดความแพร่หลายของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย) 30 คะแนน ความหนาแน่นของนักวิจัย 45 คะแนนการจดสิทธิบัตร 35 คะแนน

ส่วนอันดับ 1 ถึง 10 ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อิสราเอล ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย นับตั้งแต่บลูมเบิร์กจัดทำดัชนีนวัตกรรมมา 9 ปี เกาหลีใต้ครองที่ 1 ถึง 7 ปี ปีนี้ทำคะแนนได้ถึง 90.49 เต็ม 100 เป็นประเทศเดียวที่ทำได้เกิน 90 คะแนน

การจัดอันดับในปี 64 สะท้อนถึงโลกที่ใช้นวัตกรรมเป็นธงนำในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตั้งแต่ความพยายามสกัดการแพร่ระบาดของรัฐบาลไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ใช้เพื่อให้ทุกประเทศเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงการแข่งขันพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งโควิด

แคทเธอรีน แมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า ในปีแห่งโควิด-19 และโลกต้องเผชิญกับปัญหาเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสำคัญของพื้นฐานนวัตกรรมมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น

ลี คยุง มุก อาจารย์ด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลกล่าวว่าการที่เกาหลีใต้กลับมาทวงแชมป์ได้ส่วนใหญ่เป็นเพราะการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับผลงานด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตที่แข็งแกร่ง คนเกือบทั้งประเทศเห็นพ้องกันว่า ถ้าจะมีอนาคตการวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น

“ประเทศถูกขนาบด้วยประเทศอื่นที่พัฒนามากกว่า และยังทำผลงานด้านเทคโนโลยีได้ดีกว่า ขณะท่ี่จีนอาศัยแรงงานราคาถูกไล่กวดเกาหลีใต้มาติดๆ” นักวิชาการให้ความเห็น

สิงคโปร์ที่ครองอันดับ 2 จัดสรรเงินงบประมาณช่วยเหลือพนักงานและบริษัทเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การคะแนนการผลิตก็สูงด้วย สิงคโปร์ทำได้ดีเรื่องการผลิตมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าแต่ต้องเป็นสินค้านวัตกรรม

โดยทั่วไป ประเทศที่เน้นการผลิตยา ระบบอัตโนมัติและคอมพิวเตอร์จะทำคะแนนได้ดีในด้านนี้ สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการผลิตมากถึงขนาดมีโร้ดแม็ป“การผลิต 2030”ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม อีกทั้งขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยในระดับโลกซึ่งเป็นมาตรวัดการศึกษา สิงคโปร์ก็ทำได้สูงในระดับต้นๆ

สวิตเซอร์แลนด์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีการเงินและชีวภาพ ครองอันดับเกือบสูงสุดในเกณฑ์ด้านการวิจัยทั้งสองตัว ส่วนเยอรมนีต้องเสียแชมป์ หลังจากเมื่อสองปีก่อนเจอร์เกน มิเชลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารบาเยิร์นแอลบี เคยเตือนว่า เยอรมนีขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ไม่มีเทคโนโลยีเหมาะสมสำหรับเทคโนโลยีรุ่นหน้า

ส่วนสหรัฐและจีน ในฐานะสองเขตเศรษฐกิจใหญ่สุด มีนวัตกรรมมากมาย แต่อันดับลดลงในปีนี้

สหรัฐเคยครองที่ 1 ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กเมื่อปี 2556 ปีนี้ตกลงไป 2 อันดับอยู่ที่ 11 ปีก่อนคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐรายงานว่า เมื่อสหรัฐได้ผู้นำที่ไม่มีใครโต้แย้งเรื่องวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม บทบาทย่อมโดดเด่นน้อยลง

สหรัฐทำคะแนนได้แย่มากด้านการศึกษาสูง ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงระดับโลก ผลงานที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีกด้วยการขัดขวางนักศึกษาต่างชาติ ที่มักจะโดดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาเหตุมาจากนโยบายวีซาของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำมั่นว่าจะประคับประคองการผลิตของสหรัฐ ด้วยนโยบาย "“Innovate in America” ตั้งงบประมาณลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีและเทคโนโลยีล้ำยุค 3 แสนล้านดอลาร์

ซุง วอน โซน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโลโยลา แมรีเมาท์ในนครลอสแองเจลิส กล่าวว่า สหรัฐยังคงอยู่ในแถวหน้า แต่ทุกวันนี้นวัตกรรมมีแนวโน้มมาจากบริษัทสตาร์ทเล็กๆ มากมาย แต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะแปลงความคิดเป็นผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายสู้ผู้บริโภค

ส่วนจีนที่ตกลงมา 1 อันดับอยู่ในอันดับที่ 16 ต้องติดหล่มต่อกรกับสหรัฐในนโยบายนวัตกรรมสำคัญหลายด้าน