‘แบตเตอรีรถไฟฟ้า’หนุนอินโดฯฮับเทคโนฯสีเขียว

‘แบตเตอรีรถไฟฟ้า’หนุนอินโดฯฮับเทคโนฯสีเขียว

รัฐบาลอินโดนีเซียลงนามข้อตกลง มูลค่า 9,800 ล้านดอลลาร์กับบริษัทแอลจี ของเกาหลีใต้ เพื่อทำโครงการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโลก

“บาห์ลิล ลาฮาดาเลีย” ประธานคณะกรรมการประสานงานการลงทุนอินโดนีเซีย เผยว่า ความตกลงที่ลงนามระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย กับบริษัทแอลจี ของเกาหลีใต้ เมื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นแผนการลงทุนผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งต้องใช้แร่นิกเกิลเป็นหลัก ซึ่งอินโดนีเซียอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ของโลก

ลาฮาดาเลีย ยังบอกด้วยว่า การพัฒนาขั้นต้นจะเริ่มในเดือน ก.พ.ปีหน้า รวมถึงแผนการขุดและถลุงแร่ ในหมู่เกาะมาลูกู ทางภาคตะวันออก

“บริษัทแอลจี มีตลาดและเทคโนโลยี ขณะที่อินโดนีเซียมีวัตถุดิบปริมาณมหาศาล เมื่อผสมสองส่วนเข้าด้วยกัน เชื่อว่าโครงการลงทุนนี้จะเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของโลก” ลาฮาดาเลีย กล่าว

มีบริษัทต่างชาติอีกหลายแห่งกำลังลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยแร่นิกเกิลในอินโดนีเซีย รวมถึง บริษัท ชิงซาน โฮลดิ้ง กรุ๊ป ของจีน และมีรายงานว่า บริษัท เทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐ ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ แสดงความสนใจที่จะลงทุนสร้างโรงงาน ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียเช่นกัน

เมื่อราวกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซีย แถลงว่า เทสลา อิงค์ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐ เตรียมส่งทีมงานมายังอินโดนีเซียในเดือนม.ค. เพื่อเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านซัพพลายเชนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียได้เชิญชวนให้เทสลาเข้าลงทุนในประเทศ เนื่องจากอินโดนีเซียมีแหล่งนิกเกิลจำนวนมาก โดยเขาได้เปิดเผยกับรอยเตอร์เมื่อเดือนที่แล้วว่า อินโดนีเซียมีแผนการที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรีลิเธียมรายใหญ่ที่สุด เนื่องจากอินโดนีเซียมีแหล่งนิกเกิลจำนวนมาก

มีรายงานว่า ปธน.วิโดโดและนายลูฮัท แพนด์ไจตัน รมว.ประสานงานด้านการเดินเรือและการลงทุนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาเมื่อวันที่11 ธ.ค. เพื่อหารือถึงโอกาสด้านการลงทุนของเทสลาในอินโดนีเซีย

สิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ตอกย้ำถึงความสำคัญของตลาดรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และหากจะพูดถึงตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคันแล้ว จีน ยังครองความเป็นเจ้าตลาด โดยเมื่อเดือนก.ย. ศูนย์วิจัยยานยนต์ของเยอรมนี ระบุว่า จีนจะเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกภายในสิ้นปี 2563 เพราะการสนับสนุนการลงทุนของโรงงานเทสลาที่เซี่ยงไฮ้ โดยในปี 2562 จีนมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน

ศูนย์วิจัยยานยนต์แห่งนี้ บอกด้วยว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบและรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด และไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกัน สามารถทำยอดจำหน่ายในยุโรปเกือบ 400,000 คัน ส่วนยอดจำหน่ายในจีนน้อยกว่ายุโรปแค่ 7,200 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบของเทสลในจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยโรงงานกิกะแฟคทอรี เทสลา เซี่ยงไฮ้ มีส่วนส่งเสริมยอดจำหน่ายเกือบ 50,000 คัน ในช่วงครึ่งแรกของปี และเนื่องจากยอดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศของยุโรปอยู่ในระดับสูง ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริดในยุโรปพลอยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เทสลามีอัตราการผลิตรถยนต์โมเดล 3 ที่โรงงานกิกะแฟคทอรีในนครเซี่ยงไฮ้ของจีนอยู่ที่สัปดาห์ละ 4,000 คัน และบริษัทยังเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์โมเดล 3 ในไตรมาสสอง พร้อมทั้งประกอบรถยนต์อเนกประสงค์โมเดล วาย ที่มีแผนส่งมอบแก่ลูกค้าภายในปี 2564

การที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาขายดีส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการปรับลดราคารถยนต์โมเดล 3 รุ่นสแตนดาร์ดฯ ที่ผลิตในจีนลงจาก 303,550 หยวน (ราว 1.36 ล้านบาท) เหลือ 271,550 หยวน (ราว 1.22 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ตามข้อกำหนดสิทธิรับเงินอุดหนุนของรัฐบาลท้องถิ่น

สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีน สะท้อนว่าในอนาคตไม่ไกลเกินรอ ราคารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันจะถูกลง เป็นราคารถยนต์ที่ตลาดมวลชนซึ่งเน้นการขายปริมาณมาก (Mass Market)สามารถเข้าถึงได้ เพราะทัศนะคติของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยให้การบริโภคพลังงานแบบดั้งเดิมลดลง