'อังค์ถัด' เผย 'โควิด-19' ฉุดเอฟดีไอทั่วโลกทรุด

'อังค์ถัด' เผย 'โควิด-19' ฉุดเอฟดีไอทั่วโลกทรุด

อังค์ถัดเผย "โควิด-19" ฉุดเอฟดีไอทั่วโลกทรุด 40% ในปีนี้และไม่คิดว่าจะฟื้นตัวจนกว่าจะถึงปี 2565

การระบาดของโรคโควิด-19ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลก องค์การเศรษฐกิจชั้นนำของโลก รวมถึงธนาคารโลกพร้อมใจปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีโลก ล่าสุด หน่วยงานดูแลด้านการค้า การลงทุนและการพัฒนาของยูเอ็นระบุว่าตัวเลขเอฟดีไอทั่วโลกลดลงถึง40%ในปีนี้และไม่คิดว่าจะฟื้นตัวจนกว่าจะถึงปี 2565 ติดตามรายละเอียดได้จากรายงาน

รายงานซึ่งจัดทำโดยคณะนักเศรษฐศาสตร์ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังค์ถัด)คาดการณ์ว่า การระบาดของโรคโควิด-19ทำให้การลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ)ทั่วโลกในปีนี้ร่วงลงมากถึง 40% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าตัวเลขเอฟดีไอจะไม่ฟื้นตัวจนกว่าจะถึงปี 2565 ขณะที่การล็อกดาวน์และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เอฟดีไอซึ่งเป็นตัวชี้วัดการลงทุนข้ามพรมแดนของภาคเอกชนหดตัวอย่างรุนแรง

รายงานของอังค์ถัด ระบุว่าเอฟดีไอในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2562 และตัวเลขเอฟดีไอลดลงในทุกภาคส่วนที่สำคัญตั้งแต่ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การผนวกและควบรวมกิจการ

“ตัวเลขเอฟดีไอลดลงอย่างมาก”เจมส์ จ้าน หัวหน้าแผนกกิจการและการลงทุนของอังค์ถัด กล่าวในการแถลงข่าวผ่านระบบทางไกล

อย่างไรก็ตาม อัวค์ถัดคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตัวเลขเอฟดีไอจะไม่ลดลงมากเท่าช่วงครึ่งแรกของปี โดยตลอดทั้งปีจะปรับตัวร่วงลงประมาณ 30-40% และในปี2564 ตัวเลขเอฟดีไอจะยังคงหดตัวเล็กน้อยก่อนจะฟื้นตัวในปี2565

“แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นอยู่กับวิกฤติด้านสุขภาพของทุกประเทศทั่วโลกและประสิทธิภาพของการใช้นโบายของรัฐบาลประเทศต่างๆว่าจะบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19ได้มากน้อยเพียงใด”จ้าน กล่าว

รายงานของอังค์ถัดยังเห็นว่าความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองยังคงเป็นตัวแปรเพิ่มความไม่แน่นอนแก่กระแสการลงทุนเอฟดีไอทั่วโลก และประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด โดยในครึ่งแรกของปีนี้ ชาติเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว มีเอฟดีไอร่วงลงมากที่สุด โดยลดลง 75% จากเมื่อปี 2562 มีมูลค่าเพียง 98,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นมูลค่าที่ปรากฏครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2537

“แนวโน้มเอฟดีไอแย่ลงเพราะชาติเศรษฐกิจในยุโรปมีเอฟดีไอติดลบเป็นครั้งแรกโดยติดลบ7,000 ล้านดอลลาร์”รายงานของอังค์ถัด ระบุ

ขณะที่เอฟดีไอในอเมริกาเหนือร่วงลงประมาณ 56% ในช่วง6เดือนแรกของปีนี้และในกลุ่มประเทศที่เป็นแหล่งต้อนรับเอฟดีไอหลักๆในปี 2562 นั้น อิตาลีเจอปัญหาเอฟดีไอร่วงหนักสุดคือ 74% สหรัฐ 61% บราซิล 48% และออสเตรเลีย 40%

ส่วนในกลุ่มชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนานั้น รายงานของอังค์ถัดระบุว่า เอฟดีไอลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์คือลดลงแค่ 16% และในทวีปแอฟริกา เอฟดีไอลดลง 28% ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริเบียน เอฟดีไอลดลง 25% แต่ในภูมิภาคเอเชีย ลดลงแค่ 12% เท่านั้น ส่วนใหญ่ได้อานิสงค์การลงทุนในจีนที่คึกคัก

ขณะที่ชาติเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง เอฟดีไอปรับตัวร่วงลงมากถึง 81% นำโดยเอฟดีไอที่ร่วงลงอย่างมากในรัสเซีย แต่รายงานของอังค์ถัด ระบุว่าแนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูงเพราะโครงการลงทุนในภาคส่วนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดลงประมาณ 37% ในช่วง8เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าที่ 358,000 ล้านดอลลาร์

การลงทุนในภาคส่วนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกคาดหวังว่าเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มเอฟดีไอในอนาคตนั้น โดยทั่วไปจะหมายถึงโครงการต่างๆที่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพใหม่ๆ ที่ถูกมองว่าสร้างสรรค์และช่วยให้เกิดการจ้างงาน

สำหรับชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนานั้นมีการลงทุนในภาคส่วนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยลงกว่าชาติเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว โดยอยู่ที่49% เมื่อเทียบกับ17% สะท้อนถึงข้อจำกัดของประเทศเหล่านี้ที่มีมากกว่าในการออกมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ

“คาดว่ากระแสเอฟดีไอที่ไหลเข้าไปในกลุ่มชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนาจะเริ่มมีเสถียรภาพ เพราะมีสัญญาณการฟื้นตัวของเอฟดีไอให้เห็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ่ ส่วนเอฟดีไอทั่วโลกจะยังไงปรับตัวลง และในปี 2564 กระแสเอฟดีไอยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อาจจะปรับตัวขึ้น 10% ก่อนที่เอฟดีไอจะฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงเริ่มต้นปี 2565”จ้าน กล่าว

จ้าน กล่าวว่า การฟื้นตัวของเอฟดีไอจะถูกขับเคลื่อนจากการปรับโครงสร้างของภาคธุรกิจ ทำให้การลงทุนด้านต่างๆมีมากขึ้น

“ในระยะยาว เราจะได้เห็นความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่าของโลกซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการลงทุนและการค้าของโลก”จ้าน กล่าวพร้อมเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การเติบโตของเศรษฐกิจชาตินิยม ระบบห่วงโซ่ที่สั้นลง และการลงทุนในภาคส่วนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการสาธารณะ

เมื่อต้นเดือนก.ค.อังค์ถัด ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกในหัวข้อ “International Production Beyond the Pandemic” โดยระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของการลงทุน (เอฟดีไอ ช็อค) เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์มีผลทำให้การลงทุนโครงการต่างๆชะลอตัว และคาดว่าภาวะถดถอยแบบดิ่งในระดับโลกจะทำให้บริษัทข้ามชาติต่างๆทบทวนการเปิดโครงการลงทุนใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม พบว่าการลงทุนจะค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆในปี 2565 แต่จะมาพร้อมกับการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่การผลิตโลก (จีวีซี)ที่จะมีโฉมหน้าใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและคาดว่าน่าจะมากกว่า 2 ปีที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตินี้ คือ ปีนี้ และปีหน้า เนื่องจากดีมานด์ช็อค จะเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดที่จะกดดันเอฟดีไอแม้ว่าโดยรวมเอฟดีไอจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจีดีพีไม่ได้ทันทีทันใด

แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า มาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ และการหยุดชะงักของดีมานด์จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความกังวลจนสะท้อนกลับมาสู่การตัดสินใจลงทุนและนำไปสู่การหดตัวของเอฟดีไอในครึ่งแรกของปีนี้ และจะยังไม่กลับมาไปจนถึงครึ่งปีหลังปีและปี 2564