ปิดฉากธุรกิจ‘เอสปรี’ในเอเชีย

ปิดฉากธุรกิจ‘เอสปรี’ในเอเชีย

“เอสปรี” แบรนด์เสื้อผ้าแฟชันลำลอง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งบริษัทชั้นนำในธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนต้องตัดสินใจปิดกิจการในฮ่องกง

"เอสปรี" ตัดสินใจถอนธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดออกจากเอเชียตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย.โดยเบื้องต้นคิดว่าจะยังคงธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ดำเนินการภายใต้แผนร่วมทุน แต่ล่าสุด บริษัทได้ออกแถลงการณ์ว่าบอร์ดบริหารตัดสินใจถอนตัวจากการทำธุรกิจในจีนในช่วงปลายเดือนก.ค.ด้วยเช่นกัน ซึ่งการถอนตัวจากธุรกิจในเอเชียครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปรับโครงสร้างครั้งล่าสุดของเอสปรีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เร็วขึ้น

เอสปรี มีฐานดำเนินงานในฮ่องกงและมีตลาดหลักอยู่ในเยอรมนี เปิดเผยเมื่อวันอังคาร(29ก.ย.)ว่า ขาดทุนสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.992 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (515.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ในปีงบการเงิน ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.ถือว่าขาดทุนมากกว่าปีที่แล้วที่ตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2.144 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยปัจจุบัน บริษัทอยู่ภายใต้กระบวนการได้รับความคุ้มครองจากศาลเยอรมนี ตามกฏหมายปรับโครงสร้างบทที่ 11ที่เปิดโอกาสให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ที่ส่วนใหญ่คือการลดจำนวนพนักงานและปิดร้านค้าปลีก

ถึงแม้บริษัทจะลดขนาดของธุรกิจลงไปแล้วส่วนหนึ่งแต่โอฟีเลีย โล ติก-แมน เลขาบริษัทระบุในแถลงการณ์ว่า จะมีการปิดร้านค้าปลีกของบริษัทเพิ่มขึ้่นในปีงบการเงิน ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 30มิ.ย.ปี 2564 ซึ่งรวมถึงมีการปรับโครงสร้างอีกรอบและจะมีการปลดพนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจ โดยบริษัทคาดการณ์ว่ากระบวนการปรับโครงสร้างรอบนี้จะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนต.ค.นี้

160160020655

แต่ปัญหารายได้ตกต่ำของเอสปรี ไม่ได้เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หากแต่บริษัทดิ้นรนเพื่อทำกำไรมานานเกือบ10ปีแล้ว หลังจากยอดขายและกำไรสุทธิของบริษัทในปีงบการเงินซึ่งสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก และย้อนหลังไปในปีนั้น เอสปรีมียอดขายและกำไรสุทธิประมาณ 50% ของอินดิเท็กซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ซารา แบรนด์เสื้อผ้าแฟชันชื่อดังสัญชาติสเปน ทั้งยังมียอดขายน้อยกว่าฟาสต์ รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์ยูนิโคล สัญชาติญี่ปุ่นเพียงแค่ 10%

สัญญาณเตือนของเอสปรีเริ่มปรากฏชัดเจนในช่วง2ปีต่อมา เมื่อยอดขายร้านค้าปลีกของบริษัทปรับตัวร่วงลง 2.4% จากปีงบการเงินก่อนหน้านี้ แต่บริษัทยังคงเน้นขยายธุรกิจด้วยความหวังว่าการขยายธุรกิจจะช่วยชดเชยรายได้จากร้านค้าปลีกที่ลดลงได้

การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นอย่างเอสปรีเพียงแห่งเดียว ล่าสุด สำนักข่าวนิกเกอิของญี่ปุ่น รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของมาเลเซียและเป็นรายใหญ่ของเอเชีย เตรียมปิดธุรกิจในญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการจำกัดการเดินทางทั่วโลก

รายงานข่าวระบุว่า แอร์เอเชียจะประกาศปิดกิจการในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในช่วงต้นสัปดาห์หน้า โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากผู้บริหารของแอร์เอเชียได้ประชุมกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และได้ตัดสินใจปิดกิจการในญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของแอร์เอเชียและให้บริการเที่ยวบินระยะไกลที่มีญี่ปุ่นอยู่ในเส้นทางบินด้วย เปิดเผยผลประกอบการทรุดหนักในไตรมาส 2 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน

แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ระบุว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุนสุทธิ 305.2 ล้านริงกิต (73.2 ล้านดอลลาร์) ในไตรมาส 2 เทียบกับที่ขาดทุน 207.1 ล้านริงกิตในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้งรายได้ของบริษัทดิ่งลง 91% สู่ระดับ 91.4 ล้านริงกิต

แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ระบุว่า ทางบริษัทยังคงเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง และได้แจ้งต่อเจ้าหนี้เพื่อขอให้มีการเลื่อนชำระหนี้ออกไป ขณะที่บริษัทจะเริ่มปรับลดเงินเดือนพนักงานในเดือนก.ย.

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา “โทนี เฟอร์นันเดส” ซีอีโอสายการบินแอร์เอเชียได้แสดงความมั่นใจว่า แอร์เอเชียจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งในปี 2564 โดยระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ “สตรีท ไซจน์ เอเชีย” ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี เฟอร์นันเดส อธิบายว่า การที่รัฐบาลของประเทศในเอเชียรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้นมาก จะช่วยให้อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น