ย้อนรอย 75 ปี ระเบิดนิวเคลียร์ ‘ลิตเติ้ลบอย’ ปฐมบทอาวุธทำลายล้างสูง สู่เหตุระเบิดเลบานอน

ย้อนรอย 75 ปี ระเบิดนิวเคลียร์ ‘ลิตเติ้ลบอย’ ปฐมบทอาวุธทำลายล้างสูง สู่เหตุระเบิดเลบานอน

วันนี้ (6 ส.ค.) เมื่อ 75 ปีก่อน สหรัฐตัดสินใจทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นพังราบในพริบตา ประชาชนเสียชีวิตทันทีหลายหมื่นคน เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

   

วันนี้ (6 ส.ค.) เมื่อ 75 ปีก่อน สหรัฐตัดสินใจทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นพังราบในพริบตา ประชาชนเสียชีวิตทันทีหลายหมื่นคน เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

“ลิตเติ้ลบอย” เป็นผลงานวิจัยนานหลายปี ผสมผสานทฤษฎีฟิสิกส์เข้ากับกลศาสตร์ปลดปล่อยพลังงานจากอะตอม จากหลักคิดพื้นฐานที่ว่า ธาตุกัมมันตรังสี (ยูเรเนียมหรือพลูโตเนียม) จะแตกตัวและให้นิวตรอนออกมาพร้อมพลังงาน นิวตรอนที่ปล่อยออกมาถ้าไปกระทบอะตอมของธาตุกัมมันตรังสีก็จะทำให้เกิดการแตกตัวและปล่อยนิวตรอนออกมาอีก โอกาสที่นิวตรอนจะกระทบกับอะตอมของธาตุที่อยู่ข้างเคียง เป็นไปในลักษณะสุ่ม นั่นคือ ยิ่งมีปริมาณสารอยู่มาก หนาแน่นมาก โอกาสเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องก็จะสูง ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เราเรียกว่ามวลวิกฤติ

ห้องทดลองแห่งชาติลอสอะลามอสคำนวณว่า ยูเรเนียม 64 กิโลกรัมของลิตเติ้ลบอย กลายเป็นพลังงานเพียง 1.09 กิโลกรัม แต่เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 15,000 ตัน (13.6 ล้านกิโลกรัม)

ระเบิดลูกนี้จุดชนวนที่ระดับความสูงราว 580 เมตร ส่งผลให้พื้นที่ 2.58 ตารางกิโลเมตรของ "ฮิโรชิมา" พังราบ แทบทุกคนในพื้นที่เสียชีวิตทันที ยิ่งไปกว่านั้นความร้อนของระเบิดเผาผลาญอาคารและประชาชน รวมถึง "รังสีมรณะ" ยังคร่าชีวิตประชาชนในเวลาต่อมาด้วย

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีประเทศใดโจมตีกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์อีกเลย แต่มีการพัฒนานิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2488 เป็นต้นมามีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์กว่า 2,000 ลูก

ปัจจุบันอาวุธนิวเคลียร์หลายพันลูกถูกเก็บอยู่ในคลังแสงทั่วโลก พร้อมปล่อยยิงโดยเครื่องบินหรือขีปนาวุธ สมาคมควบคุมอาวุธประเมินว่า อาวุธนิวเคลียร์มีเกือบ 14,000 ลูก ในจำนวนนี้ที่พร้อมใช้ทำสงครามได้ทันทีมีราว 1 ใน 3 แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า 75 ปีผ่านไปไม่เคยมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีกันอีกเลย

   159663899434

ระเบิดนิวเคลียร์เป็นอาวุธทำลายล้างสูง (ดับเบิลยูเอ็มดี) ชนิดแรกที่โลกรู้จัก กฎหมายสหรัฐให้นิยามดับเบิลยูเอ็มดีไว้ว่า หมายถึง 

1. เครื่องมือทำลายล้าง เช่น ระเบิด ระเบิดเพลิง จรวด หรือระเบิดมือ

2. ระเบิดที่ออกแบบมาให้คร่าชีวิตหรือทำร้ายประชาชนบาดเจ็บสาหัสด้วยสารพิษหรือเคมีอันตราย

3. อาวุธที่มีสารชีวภาพหรือสารพิษ

4. อาวุธที่ถูกออกแบบมาให้ปล่อยรังสีหรือกัมมันตภาพรังสีในระดับอันตราย

159663900965

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ ระบุว่า ดับเบิลยูเอ็มดีประกอบด้วยอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธรังสี อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรือเครื่องมืออื่นที่ตั้งใจใช้ทำอันตรายต่อประชาชนจำนวนมหาศาล

วานนี้ (5 ส.ค.) ก่อนถึงวันครบรอบการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้าง เกิดเหตุระเบิดรุนแรงที่ท่าเรือในกรุงเบรุตของเลบานอน ประธานาธิบดีมิเชล อูนของเลบานอน กล่าวว่า สาเหตุมาจากสารแอมโมเนียมไนเตรทราว 2,750 ตัน ถูกเก็บเอาไว้ที่ท่าเรือแห่งนี้มานาน 6 ปี โดยปราศจากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ

แอมโมเนียมไนเตรท เป็นสารตกผลึกใสไร้กลิ่นซึ่งใช้กันทั่วไปในรูปของปุ๋ยเป็นสาเหตุให้เกิดระเบิดใหญ่ในโรงงานอุตสาหกรรมหลายครั้ง เช่น ที่โรงงานปุ๋ยรัฐเทกซัสของสหรัฐ เมื่อปี 2556 คร่าชีวิตประชาชน 15 คน ซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา

 ปี 2544 เกิดเหตุที่โรงงานเคมีเมืองตูลูส ฝรั่งเศส คร่าชีวิตประชาชน 31 คนแต่ครั้งนั้นเป็นอุบัติเหตุ 

เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงแอมโมเนียมไนเตรทจะกลายเป็นระเบิดกำลังแรงใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่กลุ่มติดอาวุธอย่าง “ตาลีบัน” ก็เอาไปทำระเบิดแสวงเครื่องด้วย ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของสารประกอบระเบิดโจมตีเมืองโอคลาโฮมา ของสหรัฐ เมื่อปี 2538

159663930325

ภาพ : MOUAFAC HARB / AFP 

จิมมี ออกซ์ลีย์ ศาสตราจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยโรดไอแลนด์ในสหรัฐ เผยว่า การเก็บภายใต้สภาวะปกติและไม่มีความร้อนสูงมาก ยากที่จะทำให้แอมโมเนียมไนเตรทติดไฟได้

“ถ้าคุณดูวีดิโอการระเบิดที่กรุงเบรุต คุณจะเห็นควันดำ ควันแดง นั่นคือปฏิกิริยาไม่สมบูรณ์ ดิฉันสันนิษฐานว่า มีการระเบิดเล็กๆ แล้วกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาของแอมโมเนียมไนเตรท แต่ดิฉันยังไม่ได้ยินว่าการระเบิดเล็กๆ นั้นเป็นอุบัติเหตุหรือเจตนา”

ด้วยความเป็นวัตถุอันตราย การเก็บรักษาแอมโมเนียมไนเตรทจึงต้องดูแลเข้มงวด เช่นเก็บให้ห่างจากเชื้อเพลิงและแหล่งความร้อน 

ในความเป็นจริง หลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดให้ผสมแคลเซียมคาร์บอเนตเข้ากับแอมโมเนียมไนเตรท จะได้แคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรท ที่ปลอดภัยกว่า

ที่สหรัฐ หลังเกิดระเบิดโจมตีเมืองโอคลาโฮมาก็กำหนดกฎระเบียบควบคุมเข้มงวดขึ้นมาก ตามกฎหมายมาตรฐานโรงงานเคมีต่อต้านการก่อการร้าย โรงงานที่เก็บแอมโมเนียมไนเตรทเกิน 900 กิโลกรัมต้องถูกตรวจสอบ

ถึงแม้จะมีอันตราย แต่ ออกซ์ลีย์ กล่าวว่า การใช้แอมโมเนียมไนเตรตอย่างถูกต้องในภาคเกษตรและก่อสร้างทำให้โลกขาดสารเคมีชนิดนี้ไม่ได้

"โลกยุคใหม่จะไม่เป็นเช่นนี้ถ้าไม่มีระเบิด เราหาอาหารเลี้ยงประชากรไม่ได้ ถ้าไม่มีปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท เรายังต้องการมัน แต่แค่ดูแลให้ดีๆ เท่านั้น"

หลายคนสงสัยว่า ระเบิดกรุงเบรุตเป็นอุบัติเหตุหรือเจตนา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็อ้างว่า เป็นการโจมตี แม้ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็ตอกย้ำให้เห็นอันตรายของดับเบิลยูเอ็มดี ที่ใครมีไว้ในครอบครองจะต้องดูแลอย่างเข้มงวด