'ชาวญี่ปุ่น' จำใจเปลี่ยนพฤติกรรม 'ซื้อของชำออนไลน์'

'ชาวญี่ปุ่น' จำใจเปลี่ยนพฤติกรรม 'ซื้อของชำออนไลน์'

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออาหารของนักช้อปชาวญี่ปุ่นไปอย่างมาก เข้าสู่ระบบออนไลน์จากที่คาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี เนื่องจากชาวญี่ปุ่นประณีต ละเอียดละออ จึงต้องการอาหารสดใหม่และผลิตออกมาหน้าตาไร้ที่ติ

ชาวญี่ปุ่นได้ช่ือว่าประณีต ละเอียดละออ แต่ไวรัสโคโรน่าบีบให้นักช้อปช่างเลือกชาวญี่ปุ่นจำใจละทิ้งความไม่แน่ใจเรื่องการซื้อของกินของใช้ออนไลน์ ส่งผลให้ห้างค้าปลีกอย่างอิออนโค ต้องเร่งมือตอบสนองความต้องการสั่งสินค้าผ่านเว็บที่พุ่งสูงขึ้นมาก

แม้ว่านักช้อปชาวญี่ปุ่น ไม่ใช่ชาติเดียวที่ใช้บริการออนไลน์ระหว่างไวรัสโคโรนาระบาด แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากของญี่ปุ่น ประเทศที่คาดว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าผู้คนจะยอมซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ เพราะชาวญี่ปุ่นต้องการอาหารสดใหม่และผลิตออกมาหน้าตาไร้ที่ติ

“ผมคิดว่าการระบาดครั้งนี้จุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ผู้คนหันมายอมรับการซื้อของกินของใช้ผ่านอีคอมเมิร์ซ” ลุค เจนเซน กรรมการบริหารโอคาโดกรุ๊ปให้ความเห็น เขาได้รับการว่าจ้างให้มาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซของกินของใช้ให้กับอิออน ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทส่วนใหญ่ไม่เปิดเผยตัวเลข แต่ผู้บริหารห้างค้าปลีกและเหล่านักวิเคราะห์ประเมินยอดขายทางอินเทอร์เน็ตขณะนี้คิดเป็นไม่น้อยกว่า 5% ของยอดขายของชำในญี่ปุ่นทั้งหมด เทียบกับ 2.5% ช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าประมาณการช่วงก่อนวิกฤติในบางพื้นที่ เช่น จีนอยู่ที่ 15% หรือแม้แต่อังกฤษที่งุ่มง่ามก็ยังอยู่ที่ 7% แต่ความเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นท้าทายความเชื่อที่ยึดถือกันมานานว่า นักช้อปชาวญี่ปุ่นมักซื้อของทุกวันและซื้อด้วยตนเอง ตรวจสอบความเรียบร้อยของสินค้าด้วยมือของตนเอง

ยูริ โอห์ตากะ กราฟฟิกดีไซเนอร์ อาศัยอยู่ชานเมืองฝั่งตะวันตกของกรุงโตเกียว เริ่มสั่งสินค้าออนไลน์จากหลายเว็บในเดือน มี.ค. หลังจากไปซื้อของในร้านค้าใกล้ๆ แล้วพบว่า สินค้าถูกกว้านซื้อไปเกลี้ยงแผง

แม้ความกลัวสินค้าขาดตลาดจะลดน้อยลงแล้ว แต่การสั่งสินค้าออนไลน์ก็ง่ายขึ้นเมื่อเธอทำงานจากที่บ้าน สามารถทำอาหารให้ครอบครัวได้ทั้ง 3 มื้อ รวมทั้งลูกชายวัย 3 ขวบ เธอเองก็มีความสุขที่ไม่ต้องไปร้านค้าด้วยกลัวว่าจะติดเชื้อโรค

การซื้อของออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเจอหน้าค่าตา ต้องลงทะเบียน หรือเข้าแถว โอห์ตากะชวนพ่อแม่ให้มาซื้อของออนไลน์ด้วย

“พ่อแม่ไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวัน ฉันไม่อยากให้ไปเลยค่ะ” กราฟฟิกดีไซเนอร์รายนี้แสดงความกังวล 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อครัวเรือนที่สามีภรรยาทำงานทั้งคู่เพิ่มมากขึ้น ผู้คนจึงอยากใช้เวลาซื้อของให้น้อยลง แต่พวกเขาก็ยังอยากได้มาตรฐานการบริการและคุณภาพการผลิตแบบสุดยอดเหมือนเดิม มาตรฐานความยอดเยี่ยมแบบญี่ปุ่นที่สร้างความงุนงงให้กับห้างค้าปลีกต่างชาติรายแรกๆ อย่างคาร์ฟูร์และเทสโก้

เมื่อชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแดนอาทิตย์อุทัยเป็นตลาดค้าปลีกที่มูลค่าสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ปีละกว่า 50 ล้านล้านเยน (4.66 แสนล้านดอลลาร์) ถ้าเทียบเป็นรายหัวประชากร ชาวญี่ปุ่นใช้เงินซื้ออาหารเป็นรองเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และอิสราเอล

สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ แม้พูดถึงบริการออนไลน์มาหลายปีแล้ว แต่ก็เพิ่งเริ่มลงทุนขนานใหญ่สร้างโครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนใหญ่พยายามตอบสนองความต้องการที่พุ่งขึ้นมาก และว่าที่นักช้อปบนทวิตเตอร์ที่โอดครวญว่า หาคิวส่งของได้ยากช่วงวิกฤติโรคระบาด

อิออนจ้างโอคาโด บริษัทชั้นนำด้านของชำออนไลน์สัญชาติอังกฤษ มาเมื่อเดือน พ.ย. สร้างคลังสินค้าอัตโนมัติใหม่ล้ำยุค ตั้งเป้าเฆี่ยนคู่แข่งอย่างอเมซอน, เซเวนแอนด์ไอโฮลดิงส์, อิโต-โยคาโด และบริษัทร่วมทุนแห่งหนึ่งระหว่างเซยูของวอลมาร์ทกับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ “ราคูเท็นอิงค์” ลงให้ได้ 

แต่คลังสินค้าแห่งแรกกว่าจะเปิดดำเนินการได้ก็ต้องรอจนถึงปี 2565 ระหว่างนั้นอิออนเผยว่า กำลังว่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นให้มาช่วยห่อสินค้าของกินของใช้ตามคำสั่งซื้อออนไลน์ กระนั้นการว่าจ้างพนักงานขับรถส่งของเพิ่มก็ยังทำได้ยาก แต่แม้จะมีข้อจำกัดดังกล่าว ผู้บริหารอิออนคาดว่ายอดขายของชำออนไลน์จะเติบโต 50% และคิดเป็นราว 10% ของยอดขายภายในสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 28 ก.พ. ปีหน้า

นี่ไม่ใช่เป้าหมายทางการที่เปิดเผยกับนักลงทุน แต่บริษัทยืนยันว่า อากิโอ โยชิดะ ประธานอิออนผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งมานั่งเป็นเบอร์ 1 ในเดือน มี.ค. กำหนดตัวเลขดังกล่าวให้เป็นเป้าหมาย คณะผู้บริหารหวังว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นจะอยู่ยาว

“เมื่อผู้คนหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น พวกเขามีแต่จะใช้มากขึ้นแทนที่จะลดลง ในญี่ปุ่นเราหวังว่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตเพิ่มขึ้น” เจนเซน จากโอคาโดกล่าว เขาเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของโอคาโดโซลูชันส์ ธุรกิจเทคโนโลยีของโอคาโดกรุ๊ปด้วย

  • คลังสินค้าอัจฉริยะปะทะร้านชำดั้งเดิม

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ยังมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้กับห้างค้าปลีกรายใหญ่กว่า ผู้สามารถลงทุนทำคลังสินค้าอัจฉริยะที่สามารถจัดการกับสินค้าปริมาณมากๆ ได้ แทนการใช้พนักงานหยิบของจากชั้นวางมาห่อเตรียมส่งให้ลูกค้า ซึ่งนั่นอาจทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตรายเล็กกว่าและร้านค้าแบบเดิม ที่ตอนนี้ต้องสู้ราคากับอิออนและอิโต-โยกาโดให้ได้แล้วยิ่งเสียเปรียบมากขึ้นไปอีก

แต่ไวโอเล็ตตา โวโลวิช ผู้วิจัยเทรนด์อุตสาหกรรมของกินของใช้โลก ให้กับบริษัทที่ปรึกษาอีคอมเมิร์ซ “เอดจ์บายเอสเซนเชียล” กล่าวว่า คลังสินค้าไฮเทคแสนแพงที่ตั้งอยู่ห่างไกล ไม่ใช่คำตอบของห้างค้าปลีกทุกเจ้า เธอมองว่า ห้างค้าปลีกหลายรายเลือกนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในร้านมากขึ้น พร้อมน้อมรับฟีเจอร์ใหม่ๆ อาทิ “คลิกแล้วรับของ” ที่นักช้อปสั่งของผ่านออนไลน์แล้วมารับของที่ร้าน

นักวิจัยรายนี้กล่าวด้วยว่า การที่อีคอมเมิร์ซอาหารเพิ่มความนิยมขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะยุติการซื้อของชำแบบเดิมๆ ได้

“แค่เพราะคนเราสั่งพิซซ่ามากิน ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาหยุดไปร้านพิซซ่า” โวโลวิชเปรียบเทียบให้เห็นภาพ