โครงสร้าง 'เหยียดผิว' จุดอ่อนระบอบสหรัฐ

โครงสร้าง 'เหยียดผิว' จุดอ่อนระบอบสหรัฐ

จากกรณี “จอร์จ ฟลอยด์” ชาวอเมริกันผิวสี ที่ถูกตำรวจสหรัฐควบคุมตัว โดยใช้เข่ากดลงไปจนเสียชีวิต ขณะตำรวจคนอื่นได้แต่มองโดยไม่ทำอะไรเลย นำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบหลายจุดทั่วประเทศ ขณะเดียวกันทำให้กลุ่มทุนหลายประเทศเริ่มมองเห็นถึงปัญหาของสหรัฐ

เหตุชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชาวอเมริกันผิวสี ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวในเมืองมินนีแอโปลิส ที่นำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบหลายจุดทั่วประเทศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากจะทำให้กลุ่มทุนหลายประเทศเริ่มมองเห็นถึงปัญหา บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นหลายแห่งประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจในสหรัฐ ยังทำให้สหรัฐถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายประเทศที่สหรัฐเคยเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศนั้นๆ

เริ่มจาก “อยาโตลเลาะฮ์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ที่บอกว่าชะตากรรมของ จอร์จ ฟลอยด์ ช่วยเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของสหรัฐให้โลกรู้ ซึ่งรวมถึงการกดขี่คนทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งคนของตัวเอง

คาเมเนอี บอกว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าตำรวจสหรัฐใช้เข่ากดลงไปที่คอของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีจนเสียชีวิต ขณะเพื่อนตำรวจคนอื่นได้แต่มองโดยไม่ทำอะไรเลยนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นี่เป็นโฉมหน้าที่แท้จริงของอเมริกา เป็นสิ่งที่สหรัฐกระทำเสมอมาทั่วโลก ทั้งในอิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน และอีกหลายประเทศ โดยก่อนหน้านั้นก็เป็นเวียดนาม

“มันคือวิถีปกติของสหรัฐ เป็นโฉมหน้าอันแท้จริงของระบอบอเมริกัน นี่คือความเป็นจริงที่ถูกอำพรางหรือซ่อนเร้น และไม่ใช่เรื่องใหม่” ผู้นำสูงสุดอิหร่าน กล่าว

ขณะที่สื่อชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างหนังสือพิมพ์เจแปน ไทมส์ รายงานว่าบริษัทโซนี อินเทอร์แอคทีฟ เอนเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโซนี คอร์ป ตัดสินใจเลื่อนการจัดกิจกรรมออนไลน์ที่เดิมกำหนดไว้ในวันศุกร์ (5 มิ.ย.) เพื่อเปิดตัวเกมต่างๆ สำหรับเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น 5 รุ่นใหม่ล่าสุดที่จะออกมาสู่ตลาดในเร็วๆ นี้

ส่วนฮอนด้า มอเตอร์ โค บอกว่า ที่ทำการของดีลเลอร์อย่างน้อยหนึ่งแห่งของบริษัทในสหรัฐถูกทำลายเสียหายระหว่างการชุมนุมประท้วงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบใดๆ จากเหตุชุมนุมต่อโรงงานผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศนี้

แม้แต่ “มิเชล บาเชเลต์” ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังออกแถลงการณ์ประณามโครงสร้างเหยียดผิวในสหรัฐ และแสดงความกังวลเกี่ยวกับเหตุทำร้ายสื่อมวลชนหลายกรณีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมทั้งบอกว่าปัญหาความคับข้องในหัวใจของพวกผู้ประท้วงซึ่งปะทุขึ้นทั่วสหรัฐจำเป็นต้องได้รับฟังและจัดการแก้ไข หากประเทศนี้ยังต้องการเดินทางต่อไป

บาเชเลต์ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีผู้นำที่ชัดเจนและสร้างสรรค์ เพื่อนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติ เป็นผู้นำที่ประณามการเหยียดผิว รับฟังเสียงสะท้อนว่าอะไรที่ขับเคลื่อนประชาชนไปสู่จุดเดือด รับฟังและเรียนรู้ พร้อมทั้งดำเนินการเพื่อจัดการอย่างจริงจังกับประเด็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

ภาวะผู้นำที่บาเชเลต์พูดถึง สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่เมินเฉยต่อบทบาทดั้งเดิมของประธานาธิบดีในฐานะผู้เยียวยาวิกฤติ หนำซ้ำยังประกาศจะใช้ทหารปราบปรามการประท้วงรุนแรง และปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่างสันติ