ติด 'โควิด-19' ซ้ำ! โจทย์ใหม่เกาหลีใต้

โจทย์ใหม่ "เกาหลีใต้" เมื่อประชาชนอย่างน้อย "222 คน" หายป่วยแล้ว แต่กลับตรวจเจอไวรัสอีก แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสาเหตุใด !?
การระบาดในเกาหลีใต้สูงสุดเมื่อวันที่ 29 ก.พ. เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกนอกประเทศจีน ถัดไปสองเดือนในวันที่ 22-23 เม.ย. เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ยืนยันแล้วเพียง 8 คนเท่านั้น แต่คนที่เคยตรวจหาเชื้อได้ผลเป็นบวกตอนนี้มีราว 78% ที่ปลอดเชื้อและไม่ต้องกักตัวแล้ว ซึ่งนักวิจัยเองก็ไม่แน่ใจถึงความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะกลับมาติดโควิด-19 อีก
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิจัยไม่มั่นใจว่า ทำไมบางคนหายแล้วแต่ยังตรวจเจอไวรัส พวกเขาไม่คิดว่าชุดตรวจสอบที่ส่งออกไปหลายประเทศรายงานผลผิดพลาด ขณะนี้มีอย่างน้อย 120 ประเทศที่ขอให้เกาหลีใต้ส่งชุดตรวจโควิด-19 ไปขายหรือเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเมื่อเดือน มี.ค. เกาหลีใต้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 48.6 ล้านดอลลาร์
“นักวิจัยไม่กี่คนคิดว่านี่เป็นการติดเชื้อซ้ำ หรือปัญหาชุดตรวจสอบไม่แม่นยำ แต่หลายคนมองว่าไวรัสกำเริบมากกว่า จริงๆ แล้วเกาหลีใต้ใช้เกณฑ์เข้มงวดมากในการตัดสินว่าผู้ป่วยหายดีแล้วหากเทียบกับประเทศอื่นๆ” ฮวาง ซึงซิก นักระบาดวิทยาเชิงเวลาและพื้นที่ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลอธิบาย
ในทางกลับกัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจเป็นเรื่องการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ผู้ป่วยโควิด-19 บางคนอาจมีอาการซ้ำเพราะมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ด้วย และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นักวิจัยเชื่อด้วยว่า ผู้ป่วยบางคนอาจมีไวรัสนานกว่า 14 วัน
ด้วยเหตุผลความเป็นส่วนตัว รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่เปิดเผยอัตลักษณ์บุคคลของผู้ที่มีเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงคนกลุ่มเล็กๆ ที่ตรวจพบเชื้อหลังจากหายแล้ว โดยใช้วิธีระบุตัวตนคนเหล่านี้ด้วยตัวเลขแทนชื่อ ข้อมูลระบุว่า ราว20% คนที่ติดเชื้อซ้ำหรืออาการกำเริบอยู่ในวัย 20 ปีเศษ รองลงมาคือกลุ่มอายุ 50 ปีเศษ
นับจนถึงขณะนี้งานวิจัยเบื้องต้นจากแพทย์ในจีนและสหรัฐชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจทำลายเซลล์ลิมโฟไซท์ชนิดทีเซลล์ ที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาแต่นักวิจัยเชื่อว่า น่าจะเป็นการที่ไวรัสกำเริบมากกว่าติดเชื้อซ้ำ ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังความพยายามพัฒนาวัคซีนจะยิ่งยุ่งยากเข้าไปใหญ่
“เหตุผลสำคัญในการแยกระหว่างการติดเชื้อซ้ำกับการกำเริบคือ ถ้าเป็นการติดเชื้อซ้ำหมายความว่าระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาด พัฒนาวัคซีน หรือวิธีการรักษาอื่นๆ ในอนาคตยากตามไปด้วย” ฮวังกล่าวปิดท้าย