เมื่อ 'โควิด-19' ทุบหม้อข้าวสาวโรงงานสิ่งทอเอเชีย

เมื่อ 'โควิด-19' ทุบหม้อข้าวสาวโรงงานสิ่งทอเอเชีย

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่กำลังเล่นงานทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ กำลังสร้างความปั่นป่วนต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอในภูมิภาคเอเชีย

รวมทั้งตามโรงงานผลิตเสื้อผ้าใกล้กรุงพนมเปญของกัมพูชาที่เริ่มปลดพนักงาน เพราะคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่เป็นบริษัทต่างประเทศไม่มี เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

4 เดือน หลังจากโรคโควิด-19 แพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยังคงลุกลามไปทั่วและกำลังสร้างภาวะวิกฤติแก่บรรดาผู้ส่งออกสิ่งทอของเอเชีย ซึ่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีรายได้และผลกำไรเป็นกอบเป็นกำเพราะกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แรงงานหลายล้านคนตกงาน และยังเป็นภัยคุกคามประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปราะบางด้วย

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 เริ่มเห็นชัดเมื่อเดือนก.พ.เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนผ้า ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในจีนและส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมสิ่งทอมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ แต่เมื่อจีนเริ่มกลับมาเดินสายการผลิตสิ่งทออีกครั้ง ก็ทำให้บรรดาโรงงานผลิตเสื้อผ้า หรือสิ่งทอมีความหวังว่าจะกลับมาเดินสายการผลิตได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หวังก็เป็นได้แค่สิ่งที่หวัง เมื่อแทบทุกประเทศทั่วโลกประกาศล็อคดาวน์ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้การแพร่ระบาดบรรเทาลง แต่การล็อคดาวน์ทำให้บรรดาร้านค้าปลีกต้องปิดร้านเพราะไม่มีลูกค้ามาซื้อ ส่วนลูกค้าก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน จะออกจากบ้านก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องจำเป็นเท่านั้น

การระบาดของโรคโควิด-19 เล่นงานอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเจอปัญหายอดขายร่วงเพราะผู้บริโภคยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้น ประกอบกับแบรนด์เสื้อผ้าตะวันตกหันไปพึ่งพาแหล่งผลิตที่ใกล้กับประเทศตัวเองมากกว่า

158592876680

“ตอนนี้เงินสดหมุนเวียนของเราไม่มีเลย ขณะที่บรรดาลูกค้าก็เริ่มมีทางเลือกมากขึ้น และคุณคิดว่าบริษัทที่ไม่มีกระแสเงินสดหมุนเวียนจะอยู่ได้นานแค่ไหน แม้แต่สายการบินที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ยังประกาศว่าอาจจะล้มละลายหากไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล นี่แหละคือสิ่งที่เรากำลังเผชิญ” เคน โล เลขาฯสมาคมผู้ประกอบการสิ่งทอในกัมพูชา กล่าว

ภาพของความยากลำบากและเรื่องราวอันขมขื่นแบบนี้ปรากฏอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค ท่ามกลางโรงงานหลายพันแห่งที่ต้องปิดสายการผลิตบางส่วน และมีโรงงานจำนวนมากที่ตัดสินใจยุติการผลิตทั้งหมดแบบถาวร

ออเดอร์สินค้าถูกยกเลิกทั้งหมด คิดเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนแรงงานจำนวนกว่า 1 ล้านคนต้องถูกเลิกจ้าง หรือให้หยุดงานชั่วคราว

“ในอินโดนีเซีย แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอจำนวนกว่า 3 ล้านคนได้รับผลกระทบจากปัญหาความต้องการสินค้าประเภทสิ่งทอลดลงอย่างมาก” เจมมี คาร์ติวา ประธานสมาคมสิ่งทออินโดนีเซีย กล่าว

ส่วนในเวียดนาม สมาคมผู้ประกอบการสิ่งทอประเมินว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ คิดเป็นมูลค่า 467 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับในเมียนมา ที่มีโรงงานผลิตสิ่งทออย่างน้อย 2 แห่งตัดสินใจยุติสายการผลิตชั่วคราวเพราะขาดแคลนผ้าและคาดว่าจะต้องยุติการผลิตไปอีกระยะหนึ่ง

“ตอนนี้ทุกคนพยายามอดทนให้ช่วงยากลำบากอย่างที่เป็นอยู่ผ่านพ้นไป ถ้าเอาตัวรอดจากช่วงนี้ได้ ก็จะกลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง” ขิ่น เมือง เอ ประธานและผู้ก่อตั้งโรงงานผลิตเสื้อเชิ้ตและเสื้อแจ็คเก็ตที่มีคนงาน 10,000 คนในย่างกุ้ง ให้ความเห็น

แบรนด์เสื้อผ้าตะวันตกชื่อดังบางแบรนด์อย่าง เอชแอนด์เอ็ม และซารา ให้คำมั่นว่าจะจ่ายเงินเต็มจำนวนสำหรับคำสั่งซื้อที่เหลืออยู่ โดยเอชแอนด์เอ็ม ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้บริษัทจำเป็นต้องระงับการสั่งซื้อสินค้าล็อตใหม่ โดยข้อผูกมัดระยะยาวที่ว่าจะสั่งซื้อสินค้ากับบรรดาซัพพลายเออร์ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ซึ่งหมายความว่า การระงับคำสั่งซื้อสินค้าครั้งนี้ เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เอ็ดเวิร์ด เฮิร์ทซแมน ซึ่งตีพิมพ์วารสารด้านสิ่งทอที่ชื่อซอร์สซิ่ง เจอร์นัล กล่าวว่า การยกเลิกคำสั่งซื้อแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้โรงงานผลิตเป็นฝ่ายเสียเปรียบและอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฏหมายได้

158592877989

ส่วนกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้บรรดาเจ้าของแบรนด์ชั้นนำทั้งหลายเลิกปัดความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้แก่คนงานในโรงงานผลิต 

“พวกเขาได้กำไรจากแรงงานราคาถูกมานานหลายสิบปีโดยไม่จ่ายเงินเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสังคมใดๆทั้งสิ้น ตอนนี้พวกเขาจำเป็นต้องจ่ายคืนในส่วนนี้แล้ว ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบของแบรนด์ดังทั้งหลาย” แถลงการณ์จากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ระบุ

นอกจากนี้ มีความวิตกกังวลมากว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อาจจะระบาดหนักในท้องถิ่น โดยรัฐบาลบังกลาเทศและเวียดนาม ได้ประกาศล็อคดาวน์ประเทศ ส่วนในกัมพูชา ประกาศสั่งปิดโรงงานสิ่งทอ 91 แห่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงาน 61,500  คน แต่ยังคงมีความหวาดกลัวในหมู่แรงงานว่าอาจจะติดเชื้อไวรัส

หากมองในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ วิกฤติสาธารณสุขครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอในเอเชียอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตินี้จะไปสิ้นสุดลงเมื่อใด และทุกวันนี้ ทั้งกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ ต่างว่าจ้างแรงงานหลายแสนคนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะฉะนั้น เดิมพันครั้งนี้จึงสูงมาก

ในส่วนของกัมพูชานั้น การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นมรสุมลูกที่สองที่ทุบรายได้ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไปมากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยอุตสาหกรรมนี้ มีการจ้างงานกว่า 800,000 คน หลังจากเมื่อเดือนก.พ. สหภาพยุโรป (อียู) ตัดสินใจยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางการค้าเพราะวิตกกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งส่งผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

และล่าสุด ธนาคารโลก ออกรายงานคาดการณ์ว่า จีดีพีของกัมพูชาอาจจะร่วงลงจาก 7% เมื่อปีที่แล้ว เหลือ 1% ในปีนี้ ถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดเลวร้ายลง

นอกจากนี้ ธนาคารโลก ยังคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้จะร่วงลงจาก 7% เหลือ 4.9% ส่วนเมียนมาเศรษฐกิจจะหดตัวจาก 6.3% เหลือ 3% และอินโดนีเซีย จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วงลงจาก 5% เหลือโตแค่ 2%