ถึงเวลา 'เศรษฐกิจเอเชีย' พึ่งเพื่อนร่วมงาน 'หุ่นยนต์'

ถึงเวลา 'เศรษฐกิจเอเชีย' พึ่งเพื่อนร่วมงาน 'หุ่นยนต์'

ถึงเวลาเศรษฐกิจเอเชียพึ่งเพื่อนร่วมงาน 'หุ่นยนต์' ขณะที่การเข้ามาของหุ่นยนต์ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มนุษย์เงินเดือนตกงานเสมอไป หลายครั้งที่หุ่นยนต์เข้ามาเป็นตัวเสริมและสนับสนุนการทำงานของมนุษย์

ถึงเวลาแล้วที่ภาคอุตสาหรรมของหลายประเทศในเอเชียจะเริ่มคุ้นเคยและทำงานได้อย่างลื่นไหลกับเพื่อนร่วมงานที่เป็น “หุ่นยนต์” แม้ว่าการเข้ามาของเพื่อนร่วมงานอิเล็กทรอนิกส์นี้จะทำให้มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากตกงานก็ตาม

ขณะนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตสินค้าโดยเฉพา่ะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญารายใหญ่สุดของโลก ซึ่งใช้ชื่อในการซื้อขายหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ว่า ฮอนไห่ พรีซิชัน อินดัสตรี ย้ำแผนที่จะใช้หุ่นยนต์ในโรงงานผลิตทุกแห่ง ซึ่งหมายถึงการติดตั้งหุ่นยนต์ใช้งานในอุตสาหกรรมกว่า 1 ล้านตัว

ซึ่งการย้ำจุดยืนเรื่องนี้ มีขึ้นหลังจากบริษัทได้นำหุ่นยนต์มาใช้งานแทนที่แรงงานมนุษย์ที่โรงงานหลายแห่งของฟ็อกซ์คอนน์จำนวน 60,000 คนตั้งแต่ปี 2559 เช่นเดียวกับบริษัทชิมิสุ บริษัทก่อสร้างสัญชาติญี่ปุ่น ที่ลงทุนจำนวนกว่า 3,000 ล้านเยน (28 ล้านดอลลาร์)กับหุ่นยนต์มาตั้งแต่ปี 2559

นี่คือแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์มาทำงานแทนที่มนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นการทรานส์ฟอร์มขั้นตอนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและปรับตัวจากอุตสากรรมที่พึ่งพาแรงงานไปเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาเงินทุนเป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและกำกับดูแลจากภาครัฐเพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมของตลาดและแรงงาน ที่สำคัญ รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างเร่งด่วนเพราะนับวันแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แมคคินซีย์ โกลบอล อินสติติว เผยแพร่รายงานคาดการณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานระหว่าง 400-800 ล้านตำแหน่งงานภายในปี 2573 ส่งผลกระทบต่อแรงงานทั่วโลกในสัดส่วน 1 ใน 5 ส่วนมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่า 20% ของผลผลิตรองเท้าของไนกี้และอาดิดาสจะถูกโยกไปใช้การผลิตแบบอัตโนมัติหรือใช้หุ่นยนต์ผลิตภายในปี 2566

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของหุ่นยนต์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้มนุษย์เงินเดือนตกงานเสมอไป หลายครั้งที่หุ่นยนต์เข้ามาเป็นตัวเสริมและสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ เพราะฉะนั้น การทำงานร่วมกันของหุ่นยนต์และมนุษย์ หรือที่เราเรียกกันว่า “โคบอท”จึงเป็นการทำงานร่วมกันที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากกว่าต่างคนต่างทำ

ยกตัวอย่าง โรงงานบรรจุแบตเตอรีด้วยระบบอัตโนมัติ100% ของบริษัทเทสลาในกรุงเบอร์ลิน เพื่อนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน กำหนดให้แรงงานคน 10,000 คนมีหน้าที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของหุ่นยนต์ที่ทำงานในแต่ละแผนก เช่นเดียวกับบริษัทอเมซอนดอทคอม ที่มีหุ่นยนต์ทำงานแบบเต็มที่จำนวน 1 แสนตัวในคลังสินค้าแต่ก็มีพนักงานที่เป็นคนอีก 2.5แสนคนคอยทำงานเสริมกันไปด้วย จึงพิสูจน์ได้ว่า หุ่นยนต์ไม่ได้แย่งงานมนุษย์ทำทั้งหมด

นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่าการปฏิวัติหุ่นยนต์จะเพิ่มความต้องการทักษะต่างๆที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งแนวโน้มนี้จะมีมากในชาติเศรษฐกิจก้าวหน้า ทำให้ประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการพัฒนาต่างๆมากกว่าชาติเศรษฐกิจอื่นๆ

สตาติสตา บริษัทวิจัยชั้นนำของโลก และเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (ดับบลิวอีเอฟ) ระบุว่า ประเทศในเอเชียถือว่ามีความโดดเด่นมากที่สุด ในการใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม อย่างเกาหลีใต้ ที่ครองอันดับหนึ่งด้านการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม 4 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ที่ประเทศประสบปัญหาด้านแรงงานวัยหนุ่มสาว และรัฐบาลโซลปรับเพิ่มงบประมาณด้านการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทุกปี โดยในปี 2561 งบประมาณสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีของเกาหลีใต้อยู่ที่ 35% ของงบประมาณพัฒนาประเทศทั้งหมด

ส่วนรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ตั้งเป้าพัฒนาประเทศเป็นสมาร์ทซิตี้ภายในปีนี้ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนแรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมก็ประกาศว่า จะพยายามบรรลุเป้าหมายเป็นชาติอันดับหนึ่งที่ใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในโลกให้ได้

เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ยูนิเวอร์ซัล โรบอทส์ บริษัทเทคโนโลยีและผลิตหุ่นยนต์ มั่นใจว่าในอนาคตจะมีการใช้โคบอทในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนมากขึ้น โดย"ดาร์เรล อดัมส์" ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย ให้ความเห็นว่า “การให้บริการโคบอทแก่ธุรกิจในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตจะทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล และที่สำคัญสามารถแข่งขันในตลาดได้เป็นอย่างดี

158104288096

สมาพันธุ์หุ่นยนต์ระหว่างประเทศ ระบุว่า การใช้งานหุ่นยนต์ในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีการใช้งานหุ่นยนต์จัดเป็นอันดับที่ 7 ของภูมิภาคเอเชีย และอันดับที่ 11 ของโลก และเมื่อปี2561 ประเทศไทยได้ลงทะเบียนหุ่นยนต์จำนวน 32,300 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% จากจำนวน 30,110 ตัว ของเมื่อปี2560 โดยอุตสาหกรรมที่มีการใช้งานหุ่นยนต์มากที่สุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ คิดเป็น 35% ของการใช้งานหุ่นยนต์ทั้งหมด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมพลาสติก คิดเป็น 19%

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีการใช้งานหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็น 30 ตลาดใหญ่ที่สุดของการใช้งานหุ่นยนต์ทั้งหมด 87,100 ตัว โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังคงใช้งานหุ่นยนต์มากที่สุดในภูมิภาค

แม้ว่าหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ไทย มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแล้วประมาณ15% แม้ว่ามีสัดส่วนไม่สูงมากนัก แต่จัดอยู่ในอันดับน่าประทับใจมากประเทศหนึ่งในอาเซียน