‘ตอร์เดซิญาส’ เมืองที่แบ่งโลกเป็น 2 ส่วน

‘ตอร์เดซิญาส’ เมืองที่แบ่งโลกเป็น 2 ส่วน

เมื่อมองแวบแรก ตอร์เดซิญาส เมืองเล็ก ๆ บนริมฝั่งแม่น้ำดวยโรในจังหวัดบายาโดลิดของสเปน ดูเหมือนมีความเรียบง่ายอย่างสมบูรณ์แบบ เมืองนี้มีย่านเก่าแก่ที่ประกอบด้วยจัตุรัสพลาซามายอร์ที่ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดีและโบสถ์หลายแห่งที่สร้างตั้งแต่ในยุคกลาง

หากพูดถึงเมืองตอร์เดซิญาสในนครเซาเปาโลของบราซิล เมืองการ์ตาเฮนาของโคลอมเบีย หรือเมืองอื่น ๆ ในแถบอเมริกากลางหรืออเมริกาใต้ หลายคนในพื้นที่เหล่านี้จะจำชื่อเมืองนี้ได้ทันที เพราะในปี 2037 เมืองนี้เป็นจุดที่สเปนภายใต้ราชอาณาจักรคาสตีลสมัยนั้น และโปรตุเกส ทำการแบ่งแผ่นดินที่ทั้งสองฝ่ายยังสำรวจไม่พบ และจากนั้นได้เตรียมกำหนดให้บราซิลเป็นประเทศเดียวที่พูดภาษาโปรตุเกสในทวีปอเมริกา

ที่ตั้งของเมืองตอร์เดซิญาสอาจถือเป็นทำเลเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเจรจาทำ “สนธิสัญญาตอร์เดซิญาส” ครั้งประวัติศาสตร์

“เมืองนี้ตั้งอยู่ที่จุดตัดของเส้นทางหลายเส้นที่มีความสำคัญมาก อีกทั้งยังมีพระราชวังและทุกสิ่งอย่างที่บ่งชี้ว่ามีการลงนามสนธิสัญญาที่นั่น” มิเกล อังเคล ซาลามา ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบายาโดลิดและผู้อำนวยการศูนย์ตอร์เดซิญาสแห่งความสัมพันธ์ไอเบโร-อเมริกันกล่าว

อย่างไรก็ตาม การมีเขตพระราชวังและข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของเมืองตอร์เดซิญาส อาจไม่ใช่เพียงเหตุผลเดียวที่กษัตริย์คาทอลิก 2 พระองค์อย่างพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนและสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 1 แห่งคาสตีล พระมเหสีของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2ทรงเลือกสถานที่นี้

“ด้วยกิตติศัพท์ในยุคกลางว่าเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เก่าแก่ สูงส่ง จงรักภักดี และย่านอาศัยของคนชั้นสูง ทำให้เมืองตอร์เดซิญาสมีความเชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมยุคประวัติศาสตร์ของโปรตุเกส” ริคาร์โด ปิเกราส เชส เปเดส ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาอธิบาย และว่า “ในช่วงศตวรรษที่ 14 สมเด็จพระราชินีนาถมารีอาที่ 1 แห่งโปรตุเกสและสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริซแห่งโปรตุเกสสมัยพระเยาว์ทรงเคยประทับที่เมืองนี้ จึงเป็นไปได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองเพื่อให้ภาษาโปรตุเกสเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในแผ่นดินกลาง”

สมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 1 และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 ทรงมีเหตุผลที่ดีในการปลอบใจโปรตุเกส ถึงแม้ว่ามีการหารืออย่างรอบคอบระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2037 แต่สนธิสัญญาตอร์เดซิญาสต้องผ่านกระบวนการนาน 1 ปีจึงจะสมบูรณ์ แต่ก็มาพร้อมกับความไม่แน่นอน เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะเกิดสงครามระหว่างสองประเทศ และความวิตกกังวลของสเปนเกี่ยวกับบทบาทของตนในการพิชิตดินแดนในมหาสมุทรแอตแลนติก

เส้นทางสู่การเจรจาสนธิสัญญาฉบับนี้เริ่มต้นเมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาลีพบกับพายุและต้องทอดสมอเรือใกล้กับเมืองลิสบอนระหว่างกลับจากการเดินทางเรือเป็นครั้งแรกไปยังแผ่นดินที่เขาคิดว่าเป็นอินเดีย และแม้ว่าการเดินทางของเขาได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์สเปนอย่างพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนและสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 1 แห่งคาสตีลแต่เขาก็ถูกบังคับให้ถวายรายงานข่าวการค้นพบครั้งแรกของตนต่อพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งโปรตุเกส

นอกจากนี้ โคลัมบัสยังถูกโน้มน้าวว่าหมู่เกาะใหม่ที่พบอยู่ภายใต้สนธิสัญญาอัลคาโควาส-โตเลโด ปี 2022 ซึ่งทำให้ดินแดนทางใต้ของหมู่เกาะกานาเรียสของสเปนตกเป็นของโปรตุเกส โดยพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งโปรตุเกสได้ประกาศเป็นดินแดนปกครองของตน

ขณะเดียวกัน มาร์ติน อลอนโซ ปินซอน ผู้นำทางชาวสเปนซึ่งรวมเดินทางกับโคลัมบัส ก็สามารถนำเรือของเขา “ปินตา” เทียบฝั่งในสเปนได้ และรีบส่งข่าวการค้นพบดินแดนใหม่ให้กับฝั่งบาร์เซโลนาที่กษัตริย์คาทอลิกถูกจับตามองจากหลายฝ่ายในช่วงที่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนทรงฟื้นจากอาการบาดเจ็บ และจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้กษัตริย์คาทอลิกทรงส่งนักการทูตของตนไปหาสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6 พร้อมคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการค้นพบของโคลัมบัส

จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ทรงออกโองการหลายฉบับในปี 2036 ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่สเปน ซึ่งรวมถึงการรับรองสิทธิของสเปนในดินแดนที่โคลัมบัสค้นพบใหม่ในปี 2035 โดยเฉพาะโองการชื่อ “อินเทอร์เซเทอรา” ที่กระทบต่อเขตอิทธิพลของโปรตุเกสโดยตรงส่งผลให้โปรตุเกสไม่พอใจและส่งตัวแทนไปเจรจา “ทวิภาคี” กับสเปนในทันที

“โปรตุเกสต้องการรักษาอาณานิคมของตนในแอฟริกาและหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติก” ซาลามาระบุ “เส้นแบ่งดังกล่าวเป็นเรื่องน่าตกใจ เนื่องจากทำให้พวกเขาเดินเรือไม่ได้ ซึ่งในการเดินเรือจำเป็นต้องมีลมที่เป็นใจและต้องมีลมในช่วงเวลาคับขัน แต่โองการฉบับนี้ทำให้พวกเขาอยู่ในดินแดนของพวกคาสตีล”

โปรตุเกสได้สำรวจชายฝั่งแอฟริกาเพื่อจะไปยังจีนและอินเดียมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ก่อนที่โคลัมบัสจะเดินเรือ ไปทางตะวันตกของยุโรปเพื่อหาเส้นทางใหม่ไปยังดินแดนเหล่านั้น

แม้มีความโกลาหลระยะสั้น ๆ ของการตอบโต้ทางการทูตระหว่างโปรตุเกสกับสเปน แต่ทั้งสองประเทศไม่ต้องการทำสงคราม แต่ก็ยังจัดและคงกองเรือรบของตนเอาไว้ระหว่างการเจรจา ในช่วงกลางของการหารือในเดือนก.ย. 2036 โคลัมบัสออกเดินทางเป็นครั้งที่สองพร้อมให้คำมั่นว่าข้อมูลอันล้ำค่าของเขาจะช่วยการเจรจานี้ได้ และเขาก็รักษาสัจจะด้วยการส่งแผนที่การค้นพบของเขากลับมาในเดือนเม.ย. 2037

อย่างไรก็ตาม โคลัมบัสไม่รู้ว่าพระเจ้าจอห์นที่ 2 ทรงเห็นพ้องกับการยกเลิกการแบ่งแผนที่ในแนวนอนหรือไม่ เขาจึงแก้ไขแผนที่โดยเลื่อนเส้นละติจูดของเกาะฮิสปันโยลา (ปัจจุบันคือเฮติและสาธารณรัฐโดมินิกัน)ที่คณะสำรวจของเขาพบโดยบังเอิญระหว่างการเดินทางรอบแรก ขึ้นไปทางทิศเหนือหลายองศา ทำให้เกาะนี้อยู่บนเส้นขนานเดียวกับหมู่เกาะกานาเรียส และยังเป็นการรับประกันหมู่เกาะของสเปนตามสนธิสัญญาอัลคาโควาส-โตเลโด

ในช่วงที่แผนที่ของโคลัมบัสมาถึง ฝ่ายโปรตุเกสได้ยินยอมการแบ่งโลกออกตามแนวตั้งแล้ว พระเจ้าจอห์นที่ 2 ทรงขอให้เลื่อนเส้นแบ่งดังกล่าวไปทางตะวันตกของหมู่เกาะเคปเวิร์ดของโปรตุเกสเป็นระยะทาง 1,907 กม. ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ ทำให้โปรตุเกสได้ดินแดนทั้งหมดทางทิศตะวันออกอย่างบราซิล ขณะที่สเปนได้สิทธิในดินแดนทั้งหมดที่อยู่ทางตะวันตก เช่น “โลกใหม่” หรือทวีปอเมริกาใต้ทั้งหมด ยกเว้นบราซิล

ทั้งนี้ หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันเรื่องเขตแดนไม่ได้ สนธิสิญญาตอร์เดซิญาสยังระบุเพิ่มเติมว่า ให้ต่างฝ่ายจัดหาเรือและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เช่น การเดินเรือ ดาราศาสตร์ในจำนวนเท่ากัน เดินทางไปสำรวจและกำหนดเขตร่วมกัน โดยให้ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ในเรือของอีกฝ่ายหนึ่ง

นอกจากนี้ สนธิสัญญายังระบุไว้อย่างชัดเจนว่าความตกลงในสนธิสัญญานี้เป็นความตกลงชนิดถาวรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แม้โดยโองการของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใดก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าแทรกแซงให้สมเด็จพระสันตะปาปาออกโองการฉบับใหม่เพื่อล้มล้างข้อความในโองการนี้ในอนาคต

“สำหรับชาวบราซิลส่วนใหญ่ในปัจจุบัน สนธิสัญญาตอร์เดซิญาสหมายถึงการประกาศว่ากษัตริย์โปรตุเกสสามารถครอบครองหมู่เกาะทางตะวันตกซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก” อะนา พอลลา ตอร์เรส เมเกียนี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไอบีเรียนแห่งมหาวิทยาลัยเซาเปาโลกล่าว และว่า “อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของการครองดินแดนและความยิ่งใหญ่ระหว่างยุโรปกับโลก”