ญี่ปุ่นปรับระบบเตือนภัยสึนามิเน้นการอพยพ

ญี่ปุ่นปรับระบบเตือนภัยสึนามิเน้นการอพยพ

ญี่ปุ่นนำระบบเตือนภัยสึนามิแบบใหม่เข้ามาใช้ มุ่งเน้นให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมในเรื่องการอพยพ แทนที่ให้รายละเอียดของคลื่นที่จะเข้าฝั่ง

ภายใต้ระบบเตือนภัยแบบใหม่นั้น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (เจเอ็มเอ) จะใช้เฉพาะคำว่า "คลื่นใหญ่" หรือ "คลื่นสูง" ในกาารเตือนภัยสึนามิครั้งแรก ภายในเวลา 3 นาที หลังจากเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ระดับ 8 ริคเตอร์ขึ้นไป เพื่อให้ประชาชนรับทราบได้ทันท่วงทีว่ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

คำว่า "คลื่นใหญ่" ใช้ในกรณีที่คลื่นสึนามิสูงกว่า 3 เมตร และ "คลื่นสูง" ใช้ในกรณีสึนามิสูงเกิน 1 เมตร
เจเอ็มเอ แนะนำด้วยว่า หลังจากเห็นคำเตือนแล้ว ประชาชนควรอพยพจากบริเวณชายฝั่ง หรือริมแม่น้ำไปยังสถานที่ปลอดภัยโดยทันที เช่น หนีขึ้นที่สูง หรือ เข้าไปหลบภัยในศูนย์อพยพสึนามิ

ถ้าหากการประกาศเตือนสึนามิระบุว่ามีคลื่นสูงกว่า 20 ซม. ประชาชนควรขึ้นมาจากน้ำ และออกจากพื้นที่ชายฝั่งในทันที และยังแนะนำว่าไม่ควรตกปลาและว่ายน้ำจนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศเตือนภัย

สื่อญี่ปุ่นรายงานด้วยว่า เจเอ็มเออาจใช้คำขวัญที่ว่า "สึนามิระดับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในทะเลญี่ปุ่นตะวันออกอาจเกิดขึ้นได้เสมอ" สำหรับการเตือนภัยกับประชาชน

ทั้งนี้ การเตือนภัยรอบ 2 จะเกิดขึ้นภายใน 15 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยา จะจำแนกความสูงของสึนามิที่คาดว่าจะเกิดขึ้นออกเป็น สูงกว่า 10 เมตร 10 เมตร 5 เมตร 3เมตร และ 1 เมตร

เจเอ็มเอ ระบุด้วยว่า การเตือนภัย และให้คำแนะนำนั้น จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการดำเนินมาตรการแต่ละระดับในขั้นสูงสุด สำหรับความสูงของคลื่นสึนามิที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสถานการณ์ของการประเมินเหตุการณ์ต่ำเกินไป