จับตาเจรจาเทรดดีล 2 ชาติใหญ่ ทำไม 'ญี่ปุ่น - อินเดีย' คุยไม่จบง่าย

จับตาเจรจาเทรดดีล 2 ชาติใหญ่ ทำไม 'ญี่ปุ่น - อินเดีย' คุยไม่จบง่าย

"ญี่ปุ่น" และ "อินเดีย" นับเป็นประเทศรายแรกๆ ที่สหรัฐเปิดเจรจาการค้าด้วย และเคยมีข่าวว่าน่าจะบรรลุดีลได้แต่จนถึงปัจจุบัน สหรัฐก็ยังไม่สามารถประกาศดีลกับ "มหามิตร" ในเอเชียเหล่านี้ได้แม้แต่รายเดียว

"ญี่ปุ่น" นับเป็นประเทศรายแรกๆ ของโลกที่สหรัฐเปิดทำเนียบขาวเจรจาการค้าด้วย หลังจากสหรัฐประกาศผ่อนผันภาษีศุลกากรตอบโต้ 90 วันให้กับหลายประเทศเมื่อเดือนเม.ย. โดยเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. ส่วน "อินเดีย" ก็เป็นชาติที่เคยถูกคาดหมายว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐได้เป็นฉบับแรกๆ เช่นกัน 

อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน สหรัฐก็ยังไม่สามารถประกาศดีลกับประเทศ "มหามิตร" ในเอเชียเหล่านี้ได้แม้แต่รายเดียว อินเดียปฏิเสธคำกล่าวอ้างของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่าอินเดียจะลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐเหลือ 0% ในขณะที่ญี่ปุ่นก็เริ่มมีแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศมากขึ้นว่า ต้องไม่ใช่แค่บรรลุดีล แต่ต้องเป็นดีลที่ญี่ปุ่นรับได้ด้วย

'ญี่ปุ่น' ไม่หมูอย่างที่คิด

ญี่ปุ่นเจรจาอย่างเป็นทางการกับฝ่ายสหรัฐไปแล้ว 2 ครั้ง และกำลังจะเจรจากันรอบที่สามในสัปดาห์นี้ แต่การได้เจรจาก่อนใคร และได้คุยมากกว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จหรือได้ดีลที่ดีกว่าใคร ตรงกันข้าม ท่าทีของญี่ปุ่นกลับออกมาในเชิง "แข็งกร้าว" มากขึ้นในระยะหลัง 

ริชาร์ด แคตซ์ นักวิเคราะห์ผู้ติดตามเรื่องในญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน เปิดเผยกับเจแปน ไทม์สว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นก่อนเป็นอันดับแรก เพราะคิดว่าชาติพันธมิตรเอเชียรายนี้จะยอมตกลงตามข้อเรียกร้องได้อย่างง่ายดาย และเต็มใจ ซึ่งหากญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยสร้าง "ตัวอย่าง" ทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ทำตามอย่างว่าง่ายด้วย 

อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างญี่ปุ่น และสหรัฐพลิกผันจากฟาสต์แทร็ก และบรรยากาศชื่นมื่นที่มีการสวมหมวกสโลแกน MAGA และยิงมุกกันในห้องทำงานรูปไข่ กลายไปเป็นการเจรจาที่ยาวนานโดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด นักวิชาการ และผู้สังเกตการณ์ด้านเศรษฐกิจบางส่วนมองว่าอาจกลายเป็นภาวะชะงักงันที่ไม่น่าพอใจและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ขณะที่รัฐบาลโตเกียวตระหนักว่าทั้งสองฝ่ายกำลังพูดจาคนละเรื่องกัน
 

ญี่ปุ่นต้องการเจรจาเพื่อ "ยุติภาษีนำเข้า(ใหม่)ทั้งหมด" ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) อัตรา 24% เมื่อวันที่ 2 เม.ย. อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษีพื้นฐาน 10% ภาษีเหล็ก และอะลูมิเนียม 25% และโดยเฉพาะภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย 

แต่ฝ่ายสหรัฐต้องการคุยแค่เฉพาะภาษีศุลกากรตอบโต้ก่อน เหมือนกับที่บรรลุดีลกับสหราชอาณาจักร (UK) ไปก่อนหน้านี้เป็นประเทศแรกโดยที่ยังคงภาษีพื้นฐาน 10% เอาไว้ ทำให้บรรยากาศที่ชื่นมื่นสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงเมื่อญี่ปุ่นตระหนักได้ว่า สหรัฐไม่มีเจตนาที่จะพูดคุยอย่างจริงจังเกี่ยวกับภาษีรถยนต์ในตอนนี้

"ตอนนั้นเองที่น้ำเสียงของญี่ปุ่นเปลี่ยนไป และพวกเขาก็เริ่มแข็งกร้าวขึ้น" แคตซ์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The Contest for Japan's Economic Future" กล่าวและเสริมว่า "พวกเขาตระหนักได้ว่าข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่พวกเขาได้รับ จะเป็นดีลที่แย่มาก"

สำหรับญี่ปุ่น และพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล การยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ และคนอื่นๆ กล่าวว่าจะต้องยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์ และจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้หากไม่นำภาษีทั้งหมดมาพิจารณา

ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความเป็นจริงทางการเมือง ทำให้จุดยืนของญี่ปุ่นในเรื่องภาษีนำเข้ารถยนต์เป็นเรื่องที่แทบจะไม่สามารถต่อรองได้ ในปี 2567 ญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากกว่า 1.33 ล้านคันไปยังสหรัฐ หรือเป็นสัดส่วนราว 30% ของการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศนี้

“ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด จะนำโดยอิชิบะหรือรัฐบาลชุดอื่น หากพวกเขาไม่สามารถยกเลิกหรือผ่อนปรนภาษีนำเข้ารถยนต์ได้มากพอ รัฐบาลพรรค LDP ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้” เรียว ซาฮาชิ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าว

'อินเดีย' แบ่งเจรจา 3 ช่วงก่อนเส้นตาย ก.ค.

Politico เคยรายงานอ้างแหล่งข่าวทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ว่า สหรัฐใกล้จะบรรลุดีลเบื้องต้นกับญี่ปุ่น และอินเดียได้แล้ว และแม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เองก็เพิ่งกล่าวอ้างเมื่อไม่นานมานี้ว่า อินเดียจะลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐเป็น 0% แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่ายอินเดียไม่ได้ออกมารับลูกด้วย มีเพียง เอส จัยชันการ์ รัฐมนตรีกิจการต่างประเทศของอินเดียที่ออกปฏิเสธแบบอ้อมๆ ว่า การเจรจายังคงดำเนินต่อไป และยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกิดขึ้น

"ยังไม่มีอะไรที่ตัดสินใจได้ แต่ข้อตกลงการค้าใดๆ ก็ตาม จะต้องเป็นประโยชน์ร่วมกัน ข้อตกลงการค้าใดๆ ก็ตามจะต้องได้ผลสำหรับทั้งสองประเทศ และผมคิดว่านั่นคือ สิ่งที่เราคาดหวังจากข้อตกลงการค้า และจนกว่าจะเสร็จสิ้น ผมคิดว่าการตัดสินใจใดๆ ก็ตามในเรื่องนี้คงยังเร็วเกินไป” รัฐมนตรีอินเดีย กล่าว

สื่อท้องถิ่นอย่างไทม์ส ออฟ อินเดีย รายงานว่า อินเดียยังมีท่าที "แข็งกร้าว" มากขึ้นด้วย สะท้อนจากการยื่นร้องเรียนสหรัฐอย่างเป็นทางการต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอินเดียไม่ได้ทำเช่นนี้บ่อยนัก และนับเป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมว่า อินเดียไม่ได้ยอมอ่อนข้อง่ายๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอิทธิพลจาก "จีน" ที่ยืนหยัดต้านเรื่องภาษีสหรัฐมานานจนในที่สุดก็ผ่อนท่าทีลงกันทั้งสองฝ่าย และสื่อหลายสำนัก เช่น ไฟแนนเชียลไทม์ส วิเคราะห์ว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นของจีน   

ส่วนความเคลื่อนไหวที่พอจะเป็นรูปธรรมที่สุดในตอนนี้ก็คือ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า อินเดียกำลังหารือข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ "โดยจะแบ่งการเจรจาออกเป็น 3 ช่วง" และคาดว่าจะสามารถบรรลุ "ดีลชั่วคราว" ได้ก่อนเส้นตายในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นกำหนดพ้นจากช่วงผ่อนผันอัตราภาษีใหม่ 90 วัน

ข้อตกลงชั่วคราวคาดว่าจะครอบคลุมหลายด้าน เช่น การเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางประเภท และการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) บางประเภท เช่น ข้อกำหนดการควบคุมคุณภาพ 

ส่วนข้อตกลงในช่วงที่สอง อาจเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุม และมีรายละเอียดมากขึ้น โดยจะมีขึ้นในช่วงเดือนก.ย.- พ.ย.2568 โดยน่าจะครอบคลุม 19 ประเด็นที่ระบุไว้ในเงื่อนไขอ้างอิงที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเมื่อเดือนเม.ย. และช่วงเวลาเจรจาของข้อตกลงส่วนนี้อาจตรงกับช่วงเวลาที่ "ทรัมป์จะเดินทางเยือนอินเดีย" เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศควอด (Quad) ที่มีสหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย  

ส่วนช่วงสุดท้ายของข้อตกลงน่าจะเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุม ซึ่งจะมีขึ้นตามมาเมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งอาจจะสรุปได้ภายในปีหน้า

รายงานระบุว่าการเจรจายังคงดำเนินต่อไป และยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลทรัมป์ได้ตกลงกับกระบวนการ 3 ขั้นตอนนี้สำหรับข้อตกลงการค้ากับอินเดียหรือไม่ 

ปิยุช โกยัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินเดีย เพิ่งเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเวลาสี่วันสิ้นสุดในวันอังคาร ในโพสต์บนแพลตฟอร์ม X โกยัลกล่าวว่าเขาได้ "หารือด้วยดี" กับโฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ เพื่อผลักดันข้อตกลงการค้าส่วนแรก และคาดว่าโกยัลได้พบปะพูดคุยกับ เจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์