'สหรัฐ' ต้อนรับคนขาวจากแอฟริกาใต้ ลี้ภัยกลุ่มแรก 59 คน อ้างเป็นเหยื่อเลือกปฏิบัติ

'สหรัฐ' ต้อนรับคนขาวจากแอฟริกาใต้ ลี้ภัยกลุ่มแรก 59 คน อ้างเป็นเหยื่อเลือกปฏิบัติ

'สหรัฐ' อ้าแขนต้อนรับคนขาวจากแอฟริกาใต้ กลุ่มแรก 59 คน และให้สถานะผู้ลี้ภัย รัฐบาลอ้างคนกลุ่มนี้เป็นเหยื่อเลือกปฏิบัติ

รัฐบาลทรัมป์ต้อนรับคนขาวชาวแอฟริกาใต้ 59 คน และให้สถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐ โดยถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ขณะเดียวกันก็ถูกเดโมแครตวิพากษ์วิจารณ์ และความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความสับสนในแอฟริกาใต้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐปิดรับการอพยพผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่คนผิวขาวจากส่วนอื่นๆ ของโลกเป็นส่วนใหญ่ แต่ในเดือนก.พ. ทรัมป์เสนอให้ชาวแอฟริกันเชื้อสายยุโรป (Afrikaners) ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยอ้างว่าพวกเขาเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ

เมื่อสื่อถามว่าทำไมชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวจึงได้รับการให้ความสำคัญมากกว่าเหยื่อความอดอยากและสงครามในที่อื่นๆ ของแอฟริกา ทรัมป์ตอบโดยไม่มีหลักฐานว่า ชาวแอฟริกันผิวขาวถูกสังหาร

“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กำลังเกิดขึ้น” ทรัมป์กล่าวกับนักข่าวในทำเนียบขาว ถือเป็นคำกล่าวที่ยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ไปอีกขั้น สะท้อนถึงแนวคิดของกลุ่มขวาจัดที่บอกว่าพวกเขาถูกข่มเหงรังแก

\'สหรัฐ\' ต้อนรับคนขาวจากแอฟริกาใต้ ลี้ภัยกลุ่มแรก 59 คน อ้างเป็นเหยื่อเลือกปฏิบัติ

ทรัมป์ย้ำว่า ตนไม่ได้เข้าข้างชาวแอฟริกันกลุ่มดังกล่าวเพราะเป็นคนผิวขาว และเสริมว่า เชื้อชาติของคนกลุ่มนี้ไม่มีผลต่อตนเอง

ฝ่ายแอฟริกาใต้โต้กลับ ไม่มีหลักฐานการกดขี่ข่มเหง และว่าการกล่าวอ้างเรื่อง “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนผิวขาว” ในประเทศ จากมุมมองของอีลอน มัสก์ พันธมิตรผิวขาวของทรัมป์ที่เกิดในแอฟริกาใต้ของทรัมป์ ก็ยังไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนเช่นกัน

ด้านคริสตจักรเอพิสโกพัลประกาศเมื่อวันจันทร์ (12 พ.ค.) ว่า จะไม่ทำงานร่วมกับรัฐบาลกลางในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอีกต่อไป หลังจากที่ได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือคนแอฟริกันกลุ่มดังกล่าวในการตั้งถิ่นฐาน

ฌอน โรว์ บิชอปประธานคริสตจักรระบุในจดหมายถึงชาวคริสเตียน

“เป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่ได้เห็นกลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งได้รับการเลือกด้วยวิธีการที่ไม่ธรรมดามาก และได้รับการปฏิบัติที่พิเศษกว่ากลุ่มอื่นๆ อีกมากมายที่รอคอยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือในสภาพแวดล้อมที่อันตรายมาหลายปี” 

จีน ชาฮีน วุฒิสมาชิกสหรัฐจากพรรคเดโมแครตที่อาวุโสที่สุดในคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศขกล่าวถึงความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า “น่าสับสน”

เธอแถลงเมื่อวันจันทร์ว่า “การตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้ที่จะให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่แถวหน้า เห็นได้ชัดว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง และเป็นความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่”

แอฟริกันผิวขาวกังวลการเวนคืนที่ดิน

คริสโตเฟอร์ แลนเดา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวต้อนรับชาว Afrikaners จำนวน 59 คนแรกที่เดินทางมาถึงสนามบินดัลเลสในวอชิงตัน และเปรียบเทียบการเดินทางของพวกเขากับการเดินทางของพ่อเขาเองซึ่งเป็นชาวยิวจากออสเตรียที่หนีออกจากยุโรปในช่วงทศวรรษ 1930 เพื่ออพยพไปอเมริกาใต้ก่อนไปสหรัฐ

แลนเดาไม่ได้กล่าวถึงคำกล่าวอ้างของทรัมป์เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่บอกว่าชาวแอฟริกาใต้จำนวนมากเป็นครอบครัวเกษตรกรที่ทำไร่ทำนามาหลายรุ่น แต่ตอนนี้ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการเวนคืนที่ดิน รวมถึงภัยคุกคามจากความรุนแรง

คำสั่งรับชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวของทรัมป์เมื่อเดือนก.พ. ได้อ้างอิงเหตุผลการรับคนกลุ่มนี้ว่า กฎหมายที่ดินที่แอฟริกาใต้ประกาศใช้ในปี 2568 ที่หวังให้รัฐสามารถเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ง่ายขึ้น ทำให้ชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวบางส่วนเกิดความกังวล แม้ยังไม่มีการยึดที่ดินใดๆ ก็ตาม

ชาร์ล ไคลน์เฮาส์ วัย 46 ปี ซึ่งเดินทางมาถึงเมื่อวันจันทร์และเตรียมย้ายถิ่นฐานไปยังบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก พร้อมกับลูกสาว ลูกชาย และหลานชาย เผยว่า ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตราย และผู้คนพยายามอ้างสิทธิ์ในทรัพย์สินของเขาไปเป็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันคำกล่าวอ้างของไคลน์เฮาส์ได้

แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์สว่า ชาวแอฟริกันผิวขาวบางส่วนกำลังมุ่งหน้าไปยังรัฐมินนิโซตา ที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต และขึ้นเชื่อว่าเป็นรัฐต้อนรับผู้อพยพ ขณะที่คนอีกส่วนวางแผนจะไปรัฐที่เป็นฐานเสียงพรรครีพับลิกันเช่น ไอดาโฮและอลาบามา

ด้านแทมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยว่า สหรัฐจะต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกันเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

อ้างอิง: Reuters