ขุนคลังสหรัฐเผย คุย 'คู่ค้า 14 ประเทศแรก' ก่อน เชื่อบรรลุดีลใน 90 วัน

ขุนคลังสหรัฐมอง หากตัดจีนออกไป การบรรลุข้อตกลงหลักการใน 90 วันกับ 14 ประเทศแรกที่เกินดุลการค้าสหรัฐนั้น “เป็นไปได้” โดยสหรัฐเน้นย้ำถึงเป้าหมายให้ 14 ประเทศลดภาษีนำเข้า อุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การแทรกแซงค่าเงิน และการอุดหนุนต่าง ๆ
ท่ามกลางภาษีทรัมป์ต่อทั่วโลก (ยกเว้นจีน) ที่ถูกเลื่อนออกไป 90 วัน “สก็อตต์ เบสเซนต์” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐได้ให้สัมภาษณ์กับช่อง Yahoo Finance ว่า
“เอาเรื่องจีนออกไปก่อน เรามีประเทศคู่ค้ารายใหญ่ 15 ประเทศ พอไม่นับจีน เหลือ 14 ประเทศ และตอนนี้เรากำลังดำเนินการอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้ง 14 ประเทศนี้ ส่วนใหญ่เรามีดุลการค้าเป็นลบอย่างมาก ดังนั้น ใน 90 วัน เราจะสามารถมีเอกสารสมบูรณ์ เป็นเอกสารทางกฎหมายที่เสร็จเรียบร้อยทั้งหมดหรือไม่? ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้”
“แต่ผมคิดว่า ถ้าเราดำเนินตามกระบวนการนี้ น่าจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับทั้ง 14 ประเทศ (ที่ไม่รวมจีน) ในแง่ของข้อตกลงในหลักการ และเมื่อเราบรรลุระดับที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน ว่าพวกเขาจะลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ลดการแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน ผมคิดว่าเราก็สามารถเดินหน้าต่อได้” เบสเซนต์กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค - พ.ย. 2567 ไทยได้เลื่อนอันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด โดยมีมูลค่าเกินดุล 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 12
ในขณะนี้ สหรัฐยังมีการเก็บภาษีนำเข้าทั่วกระดานในอัตรา 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดที่เหลือ และเมื่อวันพุธ จีนส่งสัญญาณว่า พร้อมจะกลับมาเจรจาการค้ากับสหรัฐ หากวอชิงตันแสดงความเคารพและแต่งตั้งผู้เจรจาที่จีนให้ความไว้วางใจ
ต่อมา ทำเนียบขาวได้ยกเว้นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ จากการเก็บภาษีตอบโต้
เบสเซนต์ระบุว่า ข้อตกลงกับ “จีน” ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างในขณะนี้ แต่ดูเหมือนว่าอัตราภาษีที่สูงกว่า 145% ไม่น่าจะเกิดขึ้น
“ผมคิดว่า ไม่มีใครเชื่อว่าอัตราเหล่านี้จะยั่งยืนในระยะยาว แต่กับประธานาธิบดีทรัมป์ ผมคงไม่สามารถเปิดเผยกลยุทธ์การเจรจาของเขาได้” เบสเซนต์กล่าว
อ้างอิง: yahoo