ก้าวสำคัญ! ‘เยอรมนี’ ผ่านงบฯ ‘ใช้จ่ายกลาโหมเพิ่ม’ เสริมแกร่งนาโต

เยอรมนีผ่านร่างงบประมาณครั้งใหญ่ เล็งใช้จ่ายกลาโหม-โครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม ก้าวสำคัญเสริมแกร่งการทหารยุโรปและนาโต ในยามที่สหรัฐส่งสัญญาณไม่แน่นอนว่าจะช่วยเหลือยุโรปมากน้อยเพียงใด
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีลงมติอนุมัติการเพิ่มค่าใช้จ่ายกลาโหมและโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศที่อาจพลิกโฉมกลาโหมของยุโรป
สมาชิกรัฐสภาบุนเดิสทาค 2 ใน 3 ลงคะแนนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยอนุมัติมติเพิ่มการใช้จ่ายดังกล่าวเมื่อวันอังคาร (18 มี.ค.) กฎหมายงบประมาณดังกล่าวจะยกเว้นการใช้จ่ายด้านการทหารและความมั่นคงออกจากกฎหนีที่เข้มงวดของเยอรมนี และสร้างกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 500,000 ล้านยูโร
แม้มีความกังวลว่ามติงบประมาณการใช้จ่ายอาจมีคะแนนสูสี แต่สส.ในสภาเลือกลงคะแนนผ่านร่างงบประมาณ 513 เสียงต่อ 207 เสียง หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3
การลงมติดังกล่าวถือเป็นความเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี ที่ปกติจะไม่สร้างหนี้สินให้ประเทศ และอาจเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญสำหรับยุโรปท่ามกลางการรุกรานยุเครนของรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป และเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งสัญญาณความมุ่งมั่นที่ไม่แน่นอนต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และกลาโหมยุโรป
หนังสือพิมพ์ชั้นนำของเยอรมนีเรียกความเคลื่อนไหวนี้ว่า “วันแห่งโชคชะตาของชาติ”
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนรัฐบาลในสภาสูงบุนเดิสราทยังจำเป็นต้องเป็นผู้อนุมัติงบประมาณดังกล่าว ก่อนที่จะผ่านเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ (21 มี.ค.) นี้
ฟรีดริช แมร์ซ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีและชายผู้อยู่เลื้องหลังแผนปรับการใช้จ่าย กล่าวกับสภาล่างระหว่างการอภิปรายเมื่อวันอังคารว่า ประเทศไม่รู้สึกถึงความปลอดภัยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
“มติที่เรามีในวันนี้อาจเป็นก้าวสำคัญแรกสู่ชุมชนกลาโหมยุโรปใหม่” แมร์ซกล่าว และเสริมว่า ชุมชนที่ว่านั้นรวมหลายประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ด้วย
ด้านเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็น “ข่าวดีมากๆ”
เมตต์ เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก กล่าวในแถลงข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเยอรมนีว่า มติดังกล่าวส่งสัญญาณชัดเจนไปยังยุโรปว่าเยอรมนีมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในกลาโหมมหาศาล และว่าเป็นข่าวดีสำหรับชาวยุโรปทุกคน
นอกจากนี้ในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าว ARD แมร์ซได้แสดงความกังวลว่า สหรัฐอาจลดการให้ความช่วยเหลือด้านกลาโหมกับยุโรป และกังวลเกี่ยวกับการหารือระหว่างทรัมป์กับปูติน โดยบอกว่า สถานการณ์ย่ำแย่ลงในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
“นั่นคือเหตุผลที่เราต้องดำเนินการโดยเร็ว” แมร์ซกล่าว
ที่ผ่านมา เยอรมนีมักระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านกลาโหม ไม่เพียงเพราะมีเหตุด้านประวัติศาสตร์หากย้อนไปในปี 1945 แต่ยังเป็นเพราะเรื่องวิกฤติหนี้ทั่วโลกในปี 2009 ด้วย
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการดังกล่าว การใช้จ่ายด้านกลาโหมใดๆ ที่มีมูลค่ามากกว่า 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เยอรมนีจะไม่ถูกจำกัดการกู้ยืมอีกต่อไป และจนถึงขณะนี้เยอรมนียังคงมีกฎควบคุมหนี้ไม่ให้เกิน 0.35% ของจีดีพี
การเปลี่ยนแปลงล่าสุดอาจพลิกโฉมกองกำลังติดอาวุธของประเทศบางส่วนที่ถูกละเลยให้กลายเป็นกองกำลังสำรองในยุคแห่งความไม่แน่นอนของยุโรปได้ และการลงมติดังกล่าวไม่เพียงสนับสนุนการใช้จ่ายกลาโหม แต่ยังอนุมัติเงิน 500,000 ล้านยูโรในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่นการซ่อมสะพานและถนน ทั้งยังรวมถึงการจ่ายสำหรับมาตรการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคกรีนมุ่งมั่นที่จะทำ
นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเยอรมนีก็เป็นข่าวดีสำหรับยูเครน เพราะแผนการใช้จ่ายกลาโหมล่าสุดจะอนุญาตให้การใช้จ่ายของเยอรมนีเพื่อช่วยเหลือรัฐที่ถูกโจมตีโดยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ได้รับการยกเว้นจากกฎควบคุมหนี้ด้วย และนั่นจะทำให้โอลาฟ โชลซ์ นายกฯ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง สามารถอนุมัติเงินช่วยเหลือยูเครน 3,000 ล้านยูเครนได้เร็วสุดสัปดาห์หน้า
อ้างอิง: BBC