ไต้หวันเร่งลงทุนในสหรัฐเพิ่มหลังทรัมป์ขู่เก็บภาษีชิป 100% -เพิ่มงบฯ กลาโหม 3% จีดีพี

ประธานาธิบดีไล่ ชิง-เต๋อ ประกาศแผนขยายการลงทุนและจัดซื้อในสหรัฐพร้อมเพิ่มงบป้องกันประเทศเกิน 3% ของ GDP หลังทรัมป์ขู่เก็บภาษีชิปไต้หวัน 100% ชี้ความสัมพันธ์สองประเทศจะยังมั่นคง เผยปี 2024 ลงทุนในสหรัฐแล้วกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ สร้างงาน 4 แสนตำแหน่ง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (18 ก.พ.) ว่า ประธานาธิบดีไล่ ชิง-เต๋อ ของไต้หวันกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า จะเริ่มโครงการขยายการลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างในสหรัฐโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลการค้าระหว่างไต้หวันและสหรัฐและบรรเทาแรงกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ
"ไต้หวันเป็นพันธมิตรสหรัฐไม่สามารถขาดได้ในการฟื้นฟูภาคการผลิตและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ รวมถึงด้านเซมิคอนดักเตอร์" ไล่กล่าวกับผู้สื่อข่าวในไทเปหลังจากเป็นประธานการประชุมความมั่นคงแห่งชาติเมื่อเช้าวันศุกร์
ไล่กล่าวว่า ไต้หวันในฐานะผู้นำด้านชิปของเอเชียจะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับชาวอเมริกันใน "การพัฒนาและการผลิตชิป AI และเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง" เขายังกล่าวด้วยว่ารัฐบาลของเขาจะส่งเสริมให้บริษัทไต้หวันเพิ่มการลงทุนในสหรัฐมากขึ้น
เขากล่าวเพิ่มเติมว่าจะเสนอ "งบประมาณพิเศษ" เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศให้สูงกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งบ่งชี้ว่ารัฐบาลของเขาจะซื้ออุปกรณ์ป้องกันประเทศจากสหรัฐเพิ่มขึ้น
คำกล่าวของไล่มีขึ้นหลังจากที่ทรัมป์สั่งให้ทีมงานของเขาเดินหน้าเตรียมการเพื่อกำหนดภาษีตอบโต้กับประเทศคู่ค้าที่มีการเก็บภาษีสูงกว่าหรือมีอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีต่อสินค้าอเมริกัน เพียงไม่กี่ชั่วโมง
ข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ ระบุว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐกับพันธมิตรประชาธิปไตยที่สำคัญในเอเชียรวมถึงไต้หวันขยายตัวกว้างขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่สหรัฐพยายามลดการพึ่งพาจีน การขาดดุลสินค้ากับไต้หวันอยู่ที่ 7.39 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2024 เพิ่มขึ้น 54.6% เมื่อเทียบกับปี 2023
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานในทำนองเดียวกันว่า ไต้หวันกำลังเจรจาหาทางซื้ออาวุธมูลค่าราว 7,000 - 10,000 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐ โดยจะเป็นการซื้ออาวุธซึ่งรวมถึงขีปนาวุธร่อนป้องกันชายฝั่งและจรวด HIMARS ซึ่งรอยเตอร์ส ระบุว่า เป็นการแสดงให้สหรัฐเห็นว่าไต้หวันมุ่งมั่นป้องกันตนเอง
ทั้งนี้ ทรัมป์วิจารณ์อุตสาหกรรมชิปของไต้หวันซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า "ไต้หวันแย่งธุรกิจชิปของเราไป" ทรัมป์ขู่ว่าจะเก็บภาษีสูงถึง 100% ในการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน และมีเป้าหมายที่จะช่วยให้สหรัฐนำการผลิตชิปขั้นสูงกลับมายังแผ่นดินอเมริกัน
ด้านประธานาธิบดีไล่กล่าวว่า รัฐบาลและบริษัทต่างๆ ของไต้หวันจะร่วมมือกันพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือกับนโยบายใหม่ของทรัมป์ "เราจะตอบสนองอย่างระมัดระวังและเพิ่มการสื่อสารระหว่างสหรัฐ-ไต้หวัน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน" เขากล่าว
ไล่กล่าวต่อว่า จะเสนอ "โครงการริเริ่มห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ประชาธิปไตยระดับโลก" และพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรเช่นสหรัฐเพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น เขาให้คำมั่นว่าไต้หวันจะ "ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของเราในชิปที่ล้ำสมัยเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานชิป AI แบบประชาธิปไตย"
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า อุตสาหกรรมชิปของไต้หวันใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐในแง่รายได้ บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC) เป็นผู้ผลิตชิปตามสัญญาอันดับหนึ่งของโลกและจัดหาชิปให้กับผู้พัฒนาชิประดับโลกส่วนใหญ่ รวมถึง Apple, Intel, Nvidia, Qualcomm, Broadcom และ Amazon
TSMC เป็นผู้นำตลาดในการจัดหาชิป AI และชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัย แม้ว่าบริษัทได้เริ่มการลงทุนในต่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐแต่การผลิตชิปส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ไต้หวัน
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ยังระบุอีกว่า คำพูดของทรัมป์ไม่เพียงแต่สร้างความไม่แน่นอนต่ออุตสาหกรรมชิปของไต้หวันเท่านั้น แต่ยังสร้างข้อกังขาต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างไม่เป็นทางการในวงกว้าง ซึ่งนักการทูตและเจ้าหน้าที่อเมริกันเคยอธิบายว่า "แข็งแกร่งดุจหิน"
ไล่ ผู้นำจากพรรค Democratic Progressive Party ที่มีท่าทีระแวงจีน และไช่ อิงเหวิน ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ มีท่าทีโน้มเอียงเข้าหาวอชิงตันตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2018 และภายใต้ความตึงเครียดข้ามช่องแคบที่เลวร้ายลง
เมื่อวันศุกร์ ไล่กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-สหรัฐ, สหรัฐฯ-จีน, รวมถึงความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน-ไต้หวัน อยู่ในความสนใจของโลก ในฐานะสมาชิกประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นต่อเสถียรภาพในภูมิภาค เขากล่าวว่า "เราหวังว่าความสัมพันธ์ไต้หวัน-สหรัฐ จะแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน"
ไล่กล่าวว่าการลงทุนทางตรงและทางอ้อมของไต้หวันในสหรัฐเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายในปี 2024 เขากล่าวว่า แรงขับเคลื่อนนี้นำมาซึ่งเงินลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์และสร้างงาน 400,000 ตำแหน่ง
ประธานาธิบดีเน้นย้ำว่า การลงทุนที่มุ่งสู่สหรัฐคิดเป็นมากกว่า 40% ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของไต้หวันทั้งในปี 2023 และ 2024 ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในจีนอย่างมาก ในช่วงสองปีนั้น สัดส่วนการลงทุนของไต้หวันในจีนลดลงเหลือ 11% และ 8% ตามลำดับ
"สหรัฐเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันแล้ว" ไล่กล่าว
ท้ายที่สุด เขาเน้นย้ำว่าไต้หวันมีวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกับสหรัฐในเรื่องเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค "เราอาจมีนโยบายที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ความไว้วางใจซึ่งกันและกันและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทเปและวอชิงตันจะยังคงมั่นคงและดำเนินต่อไป ประชาชนของเราสามารถวางใจได้"