'เกาหลีเหนือ' รื้อตึกรวมญาติ ดับฝันเกาหลีใต้ อาจไม่ได้เจอครอบครัวฝั่งเหนือ

'เกาหลีเหนือ' รื้อตึกรวมญาติ ดับฝันเกาหลีใต้ อาจไม่ได้เจอครอบครัวฝั่งเหนือ

เกาหลีใต้ เรียกร้องเกาหลีเหนือยุติการรื้อถอนสิ่งอำนวยความสะดวกบนภูเขาคึมกัง ซึ่งเป็นศูนย์รวมครอบครัวสองเกาหลีที่พลัดพราก คาดอาจทำให้เกาหลีใต้ไม่ได้เจอครอบครัวฝั่งเหนือได้อีก

เกาหลีใต้รายงานว่า เกาหลีเหนือกำลังรื้อถอนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บริเวณรีสอร์ทบนภูเขาคึมกัง ที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานพบปะครอบครัวชาวเกาหลีที่ผลัดพรากจากกันหลังสงครามเกาหลี ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ความตึงเครียดระหว่างสองเกาหลีที่เพิ่มมากขึ้น

กระทรวงการรวมชาติ ที่ดูแลกิจการระหว่างสองประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลเปียงยางยุติการดำเนินการในพื้นที่ใกล้ชายแดนทางชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือทันที โดยชี้ว่า การรื้อถอนอาคารดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดมนุษยธรรม และเหยียบย่ำความปรารถนาของครอบครัวที่พลัดพราก และเสริมว่า หน่วยงานอาจดำเนินการทางกฎหมายต่อการกระทำดังกล่าว และตอบโต้ร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ

อาคาร 12 ชั้นในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งรวมถึงโถงจัดงานอีเวนต์ และห้องพักมากกว่า 200 ห้องสร้างขึ้นในปี 2550 ด้วยงบประมาณ 55,000 ล้านวอนจากเกาหลีใต้ และการจัดงานพบปะครอบครัวที่พลัดพรากล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2561 ก่อนที่เกาหลีเหนือขู่รื้อถอนรีสอร์ทดังกล่าวในปีต่อมา

จากข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ในปี 2531 มีชาวเกาหลีใต้ลงทะเบียนขอพบครอบครัวที่พลัดพรากราว 130,000 คน และในปีนี้เหลือประชาชนที่ลงทะเบียนที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 34,941 คน เท่านั้น

ทั้งนี้ รีสอร์ทบนภูเขาคึมกังตั้งอยู่เหนือเขตปลอดทหารที่เป็นเขตแบ่งแดนสองประเทศ เป็นหนึ่งในสองโครงการเศรษฐกิจสำคัญระหว่างสองเกาหลี รวมถึงเขตอุตสาหกรรมแคซอง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการปรองดองในช่วงหลายทศวรรษแห่งความขัดแย้งหลังสงครามเกาหลี พ.ศ. 2493-2496

ในปี 2563 เกาหลีเหนือเคยระเบิดสำนักงานประสานงานร่วมในแกซอง หลังจากร้องเรียนว่า มีผู้แปรพักตร์ส่งแผ่นพับโฆษณาชวนเชื่อเข้าไปในเกาหลีเหนือ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ยกระดับการใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อเพื่อนบ้านทางใต้ โดยกำหนดว่าเกาหลีใต้เป็น “รัฐศัตรู”

ล่าสุด ปีที่แล้วเกาหลีเหนือได้ระเบิดถนนและเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างสองเกาหลีในฝั่งของตนเองหลายสาย ขณะที่ในปี 2566 รัฐบาลเปียงยางได้ยกเลิกข้อตกลงทางทหารเมื่อปี 2561 ที่จัดทำขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงการปะทะกันโดยไม่ได้ตั้งใจของสองประเทศที่ยังคงอยู่ในภาวะสงครามทางเทคนิค ส่งผลให้เกาหลีใต้ดำเนินการแบบเดียวกัน

 

อ้างอิง: Reuters