เชื่อมโยงโอกาสเศรษฐกิจ 'อาเซียน-บังกลาเทศ' | ASEAN Insight

บังกลาเทศเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่ง และเปิดรับโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กำลังมองหาเส้นทางการขยายธุรกิจในภูมิภาค
บังกลาเทศเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยปีละ 6.4% แม้เผชิญกับความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนี้ส่งผลให้รายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้บังกลาเทศกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจของเอเชีย
การเติบโตนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ยังเปิดประตูสู่โอกาสการลงทุนใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กำลังมองหาเส้นทางการขยายธุรกิจในภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ
บังกลาเทศมีนโยบายมุ่งเน้นเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับอาเซียนสะท้อนผ่านการหารือและศึกษาความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับบังกลาเทศ-ไทย และบังกลาเทศ-มาเลเซีย หากข้อตกลงเหล่านี้ดำเนินการสำเร็จไม่เพียงช่วยลดอุปสรรคทางการค้า แต่ยังเปิดตลาดใหม่สำหรับสินค้าและบริการของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายตัวของการลงทุน และการสร้างงานในภูมิภาค ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าดังกล่าวยังเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระยะยาว
บังกลาเทศยังแสดงความมุ่งมั่นในการขยายบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลบังกลาเทศ ได้แสวงหาการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อผลักดันให้บังกลาเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก
การเข้าร่วมดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้บังกลาเทศเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับอาเซียนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมอาเซียนของบังกลาเทศยังคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เนื่องจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนต้องตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอาจดำเนินการผ่านกลไกความร่วมมือพหุภาคีอื่น ๆ เช่น BIMSTEC หรือ ASEAN Regional Forum แทน
ปัจจุบันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและบังกลาเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโอกาสด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมของบังกลาเทศ โดยอาเซียนสามารถใช้บังกลาเทศเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าสู่ตลาดเอเชียใต้ ด้วยต้นทุนแรงงานต่ำ และตลาดภายในประเทศที่กำลังเติบโต บังกลาเทศจึงเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการขยายห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคของอาเซียน
จากข้อมูลของ Bangladesh Investment Development Authority (BIDA) ภาคการผลิตในบังกลาเทศถือเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีการส่งออกเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี และมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 2.74 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2563 บังกลาเทศเป็นผู้นำระดับโลกในการผลิตเสื้อผ้าอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาของบังกลาเทศยังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยครองตลาดภายในประเทศถึง 97% และส่งออกไปกว่า 100 ประเทศ คาดว่ามูลค่าตลาดจะเกิน 6 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568
ภาคบริการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และการดูแลสุขภาพ ก็แสดงศักยภาพในการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน บังกลาเทศกำลังกลายเป็นศูนย์กลางด้านทักษะดิจิทัล โดยมีการเติบโตของอุตสาหกรรม IT เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในประเทศ ขณะที่ภาคการดูแลสุขภาพเติบโตที่ 10.3% ต่อปี โดยเปิดโอกาสให้การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม บังกลาเทศยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการศึกษาและแรงงาน รวมถึงการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาว การสนับสนุนจากอาเซียนในรูปแบบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้บังกลาเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในอนาคต และในขณะเดียวกัน อาเซียนจะได้รับประโยชน์จากทั้งการเข้าถึงตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในบังกลาเทศ การสร้างเครือข่ายทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค