ทรัมป์สั่งระงับ 'กฎหมายต้านสินบน' อ้างทำธุรกิจติดขัด เสียเปรียบคู่แข่งต่างชาติ

ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งระงับบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามให้สินบนเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ อ้างขัดขวางการทำธุรกิจ และทำให้บริษัทอเมริกันเสียเปรียบคู่แข่ง ด้านนักวิจารณ์กังวล อาจเปิดช่องคอร์รัปชันให้แพร่ระบาด
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ลงนามในคำสั่งบริหารให้กระทรวงยุติธรรม “ระงับการบังคับใช้กฎหมาย” ที่มีมายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกัน และบริษัทต่างชาติ “ให้สินบน” เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ เพื่อให้ได้หรือรักษาธุรกิจไว้
“ฟังดูดีก็จริง แต่กลับทำร้ายประเทศ” ทรัมป์กล่าวถึงกฎหมายการปฏิบัติต่อการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act) ขณะลงนามในคำสั่งที่ทำเนียบขาว
“ข้อตกลงมากมายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครอยากทำธุรกิจ เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการรู้สึกว่า ทุกครั้งที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา พวกเขาอาจต้องติดคุก” ทรัมป์ กล่าว โดยอ้างถึงความพยายามต่อต้านคอร์รัปชันของสหรัฐ
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “การระงับการบังคับใช้ชั่วคราว มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย FCPA ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ” อีกทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ธุรกิจสหรัฐ ตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของกฎหมาย FCPA คือ การป้องกันไม่ให้บริษัทอเมริกันมีส่วนให้เกิดการทุจริตภาครัฐอย่างแพร่หลาย ซึ่งบ่อนทำลายหลักนิติธรรมในหลายพื้นที่ของโลก เมื่อเวลาผ่านไป กฎระเบียบของ FCPA ได้กลายเป็นหลักการพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอเมริกันในต่างประเทศ
กฎหมาย FCPA ถูกประกาศใช้ในปี 1977 ห้ามไม่ให้ชาวอเมริกันทุกคน และผู้ออกหลักทรัพย์บางรายจากต่างประเทศให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ ต่อมาในปี 1998 กฎหมายฉบับนี้ได้รับการแก้ไขให้ครอบคลุมถึงบริษัท และบุคคลต่างชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สินบนดังกล่าวภายในสหรัฐ
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ครอบคลุมเพียงสินบนที่จ่ายไปโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินบนที่ถูกเสนอ วางแผน หรือได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหารของบริษัทด้วย
ส่วนนิยามของ FCPA เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมาย ก็มีขอบเขตที่กว้างขวางเช่นกัน ซึ่งทั้งบุคคล และนิติบุคคลสามารถถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมาย FCPA ได้
สำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย FCPA อาจได้รับโทษทางอาญาสูงสุดถึงจำคุก 15 ปี และโทษปรับสูงสุด 250,000 ดอลลาร์ (ราว 8.5 ล้านบาท) หรือ 3 เท่าของมูลค่าทางการเงินของสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศเรียกร้อง
ที่ผ่านมา ในปี 2024 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประกาศดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย FCPA ทั้งหมด 24 คดี และในปี 2023 มีการประกาศดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันทั้งหมด 17 คดี
อ้างอิง: cnbc
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์