'ฮอนด้า' เล็งกวาดส่วนแบ่งตลาดมอเตอร์ไซค์โลก 50%

'ฮอนด้า' เล็งกวาดส่วนแบ่งตลาดมอเตอร์ไซค์โลก 50%

Honda ตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งตลาดมอเตอร์ไซค์โลกจาก 40% ขึ้นเป็น 50% ดันยอดขายแตะ 60 ล้านคันต่อปีภายใน 2030 เน้นเจาะกลุ่มประเทศประชากรเยอะในซีกโลกใต้ ยอมรับกังวลเรื่องภาษีเม็กซิโก

บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) แถลงในวันนี้ (28 ม.ค) ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะครองส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วโลกให้ได้ 50% ซึ่งรวมถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายยอดขายต่อปีแตะ 60 ล้านคันให้ได้ภายในปี 2030 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ 

สำหรับปีงบประมาณ 2024 ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ ฮอนด้าคาดการณ์ว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ทั่วโลกจะสูงถึง 20.2 ล้านคัน ซึ่งจะทำให้ฮอนด้ามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 40%

ค่ายรถญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าปัจจัยหลักขับเคลื่อนการเติบโตจะมาจากภูมิภาคซีกโลกใต้ (Global South) โดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงบราซิล และประเทศอื่นๆ ในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลาสำหรับเป้าหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ ฮอนด้าคาดการณ์ว่าธุรกิจรถจักรยานยนต์จะทำกำไรจากการดำเนินงานได้ประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2024 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 14% จากช่วงห้าปีก่อน โดยปัจจุบัน ฮอนด้าผลิตรถจักรยานยนต์ได้มากกว่า 20 ล้านคันต่อปี ที่โรงงาน 37 แห่งทั่วโลกใน 23 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้มีความเสี่ยงที่ครัวเรือนยากจนในหลายประเทศจะไม่สามารถเข้าถึงแม้แต่สินค้าอย่างมอเตอร์ไซค์ได้  ส่วนความต้องการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็กำลังเผชิญกับความท้าทายจากกฎระเบียบการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นใน จีน สหรัฐ และยุโรป

บริษัทกล่าวว่ากลุ่มธุรกิจรถจักรยานยนต์ซึ่งมีกำไรสูงนี้ มีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อฮอนด้ากำลังดำเนินการตามแผนการที่จะควบรวมกับบริษัท Nissan Motor โดยมิโนรุ คาโตะ เจ้าหน้าที่บริหารที่กลุ่มธุรกิจรถจักรยานยนต์ของฮอนด้า กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจนี้จะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงกับนิสสัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องมองหาการทำงานร่วมกันที่เหมาะสมในขณะที่การเจรจาดำเนินต่อไป 

นอกจากนี้ ฮอนด้ายังอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะขึ้นภาษีกับเม็กซิโกและแคนาดา เนื่องจากบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 9,000 คันต่อปีที่โรงงานใน "เม็กซิโก" ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปตลาดสหรัฐ 

“เรากำลังพิจารณาการย้ายฐานการผลิตเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ” คาโตะ กล่าว