‘ธนาคารโลก’ ได้เงินทุนสูงทุบสถิติ มูลค่า 3.4 ล้านล้าน ช่วยประเทศยากจนที่สุดทั่วโลก

‘ธนาคารโลก’ ได้เงินทุนสูงทุบสถิติ มูลค่า 3.4 ล้านล้าน ช่วยประเทศยากจนที่สุดทั่วโลก

‘ธนาคารโลก’ ได้รับเงินระดมทุนสูงถึง 3.4 ล้านล้านบาท เป็นประวัติการณ์ เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา เงินทุนมหาศาลนี้จะถูกใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข พลังงาน และน้ำสะอาด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า “ธนาคารโลก” ได้รับคำมั่นสัญญาในการจัดสรรรเงินทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนที่สุดผ่านหน่วยงานที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และเงินช่วยเหลือ

จำนวนเงินทั้งหมดนี้มีเพื่อสนับสนุนสมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association - IDA) ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุกๆ 2-3 ปี โดยอาศัยคำมั่นสัญญาจากประเทศผู้บริจาคที่ประกาศในสัปดาห์นี้ รวมเป็นมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์ตามที่ธนาคารได้ระบุไว้ในแถลงการณ์

ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากความพยายามของ “อาเจย์ บังกา” ประธานธนาคารโลกที่ได้ทำลายสถิติรอบการระดมทุนครั้งล่าสุด ซึ่งอยู่ที่ 93,000 ล้านดอลลาร์ โดยอาศัยจากเงินบริจาค 23,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2021

อย่างไรก็ตาม ความพยายามนี้เผชิญกับความท้าทายด้านการขาดแคลนทางการเงินในหลายประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นด้วย

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศผู้บริจาค 17 ประเทศได้เพิ่มการให้เงินสนับสนุนสูงขึ้น 25% เมื่อเทียบกับรอบการระดมทุนครั้งก่อน โดยวัดจากสกุลเงินของตนเอง และ 10 ประเทศได้สนับสนุนเพิ่มขึ้นกว่า 40% 

ปากีสถาน บังกลาเทศ แทนซาเนีย และเคนยา เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่กู้ยืมเงินจาก IDA มากที่สุดในปีงบประมาณ 2023 โดยแต่ละประเทศได้รับเงินกู้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์จากจำนวนเงินกู้ทั้งหมด 34,000 ล้านดอลลาร์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สมาพันธ์ IDA ได้จัดสรรเงินทุน 270,000 ล้านดอลลาร์ โดยประมาณสองในสามถูกมุ่งเน้นไปยัง “แอฟริกา” ซึ่งได้ช่วยขยายบริการด้านสุขภาพให้กับประชาชน 900 ล้านคน เชื่อมประชาชน 117 ล้านคน ให้เข้าถึงระบบไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ และทำให้ประชาชน 94 ล้านคน สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด 

ประธานบังกา ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2023 ได้ให้คำมั่นว่า จะทำให้สถาบันมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มจำนวนเงินระดมทุนจากภาคเอกชน เพื่อเร่งการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด

เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐได้ประกาศคำมั่นสัญญาในการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 130,000 ล้านบาท ซึ่งเป็น “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด” ของธนาคารโลก อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณสำหรับเงินช่วยเหลือนี้ จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่เกิดขึ้นก่อนที่สมัยประชุมปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

ย้อนไปในสมัยแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปรึกษาของเขามักจะสนับสนุนการปล่อยเงินกู้แบบฝ่ายเดียวมากกว่าผ่านธนาคารพัฒนาในรูปพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ช่วงยุคของทรัมป์ สหรัฐได้ตกลงที่จะสนับสนุนเงินประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 100,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกองทุน IDA ในปี 2019

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์