ลาก่อน ISS! ‘SpaceX’ รับหน้าที่ทำลายสถานีอวกาศ พร้อมมุ่งหน้าสู่ไททัน
สิ้นสุดยุคสมัยของสถานีอวกาศนานาชาติ! หลังจากให้บริการมนุษยชาติมาเกือบ 3 ทศวรรษ องค์การนาซาได้ตัดสินใจยุติภารกิจของสถานีอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ และมอบหมายให้ SpaceX เป็นผู้ดำเนินการทำลายสถานีอวกาศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ไม่นานมานี้ บริษัทสื่อ Unilad แห่งอังกฤษรายงานว่า “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) บริษัทเอกชนด้านธุรกิจขนส่งทางอวกาศของอีลอน มัสก์ ได้รับสัญญามูลค่า 843 ล้านดอลลาร์ หรือราว 28,000 ล้านบาท เพื่อช่วยทำลายสถานีอวกาศนานาชาติ
ทั้งนี้ “สถานีอวกาศนานาชาติ” (ISS) ถูกสร้างขึ้นในปี 1998 ด้วยความร่วมมือขององค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (NASA) กับองค์การอวกาศของชาติอื่นๆ อย่าง Roscosmos (รัสเซีย), ESA (ยุโรป), JAXA (ญี่ปุ่น) และ CSA (แคนาดา) โดยนับตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์สามารถทดลองสิ่งที่ไม่สามารถทำได้จากที่อื่นใดในสถานีอวกาศนี้ ซึ่งโคจรอยู่ห่างจากโลกประมาณ 400 กิโลเมตร
NASA อธิบายถึง ISS ว่าเป็น “ความสำเร็จที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในความพยายามของมนุษยชาติทั่วโลกในการสร้าง และใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มวิจัยในอวกาศ”
- สถานีอวกาศนานาชาติ (เครดิต: Freepik) -
อย่างไรก็ตาม สถานีอวกาศนานาชาตินี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานตลอดไป มีกำหนดการใช้งานจนถึงปี 2030 โดยหลังจากสถานี ISS ถูกปลดประจำการในอีก 18 เดือนข้างหน้า NASA จะปล่อยให้ ISS ค่อยๆ ลดระดับลงมาใกล้โลกมากขึ้น จากนั้นยานอวกาศลำหนึ่งจะเข้ายึดติดกับ ISS และใช้เครื่องยนต์ขับดัน เพื่อผลักดันสถานีอวกาศลงสู่โลก ซึ่งบริษัท SpaceX ของมัสก์ได้รับสัญญา 28,000 ล้านบาท เพื่อรับหน้าที่นี้
ยานอวกาศที่จะถูกใช้ในภารกิจนี้จะเป็นยานอวกาศ “SpaceX Dragon” ที่ได้รับการดัดแปลง โดยมีเชื้อเพลิงเป็น 6 เท่า และแรงขับเป็น 4 เท่าของ Dragon รุ่นมาตรฐาน เมื่อ ISS ตกลงจนเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก สถานีอวกาศจะแตกออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ และเผาไหม้หมด
มีเพียงโมดูลขนาดใหญ่ของสถานีอวกาศเท่านั้น ที่ผ่านแรงเสียดสีของชั้นบรรยากาศได้ และลงจอดในโลก ซึ่ง NASA ยังไม่ได้ยืนยันจุดตกนี้ต่อสาธารณะ
เคน บาวเวอร์ซอกซ์ ผู้ช่วยผู้ดูแลโครงการภารกิจปฏิบัติการอวกาศ ณ สำนักงานใหญ่ของ NASA ในวอชิงตัน กล่าวว่า “การคัดเลือกยานอวกาศของสหรัฐ เพื่อปลดวงโคจรสถานีอวกาศนานาชาติ จะช่วยให้ NASA และพันธมิตรระหว่างประเทศสามารถรับรองการเปลี่ยนผ่านที่ปลอดภัย และรับผิดชอบในวงโคจรต่ำของโลกเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติการของสถานี”
“การตัดสินใจครั้งนี้ ยังสนับสนุนแผนการของ NASA สำหรับจุดหมายเชิงพาณิชย์ในอนาคต และช่วยให้สามารถใช้งานพื้นที่ในอวกาศใกล้โลกต่อไปได้ ห้องปฏิบัติในวงโคจรยังคงเป็นแบบอย่างสำหรับวิทยาศาสตร์ การสำรวจ และความร่วมมือในอวกาศ เพื่อประโยชน์ของทุกคน”
แม้สถานี ISS จะไม่อยู่แล้วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ยังมีสถานีอวกาศประมาณ 9 แห่งทั่วโลกเหลืออยู่ ซึ่งเปิดโอกาสให้โครงการวิจัยต่างๆ ที่เคยดำเนินการบนสถานี ISS สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการวิจัยบนสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ซึ่งโคจรอยู่ตั้งแต่ปี 2021
ล่าสุด บริษัท SpaceX ได้คว้าสัญญามูลค่ามหาศาล 256 ล้านดอลลาร์หรือราว 8,700 ล้านบาท เพื่อส่งยาน Dragonfly ของ NASA บินไปสำรวจไททัน ดวงจันทร์ยักษ์ของดาวเสาร์
ภารกิจยิ่งใหญ่ครั้งนี้จะใช้จรวด Falcon Heavy ขนส่งยานโรเตอร์คราฟท์ Dragonfly จากศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2028 โดยคาดว่าจะเดินทางถึงไททันในปี 2034 ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 6 ปีเต็ม นับเป็นการเดินทางข้ามจักรวาลที่น่าตื่นตาตื่นใจและเป็นอีกก้าวสำคัญของมนุษยชาติ
อ้างอิง: unilad
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์