เปิดเหตุผลทำไม 'มาเลเซีย' เนื้อหอมดึงดูด 'บิ๊กเทค'

เปิดเหตุผลทำไม 'มาเลเซีย' เนื้อหอมดึงดูด 'บิ๊กเทค'

เปิดเหตุผลทำไม 4 กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกถึงแห่ปักหมุดลงทุน 'มาเลเซีย' แค่ครึ่งปีแรกกวาดเม็ดเงินลงทุนแล้วกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์

ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา "มาเลเซีย" ถือเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนด้านเทคโนโลยีโดดเด่นที่สุดในภูมิภาค นำโดย 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ 'Nvidia, Microsoft, Google, ByteDance' รวมเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 10,600 ล้านดอลลาร์ แซงหน้าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนพร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นว่า ทำไมหมุดหมายการลงทุนของบิ๊กเทคระดับโลกในวันนี้จึงมุ่งไปที่มาเลเซีย 

เรื่องนี้อาจสรุปได้เป็น 3 เหตุผลใหญ่ๆ คือ "พื้นฐานแกร่ง ต่อยอดเก่ง การเมืองไม่แกว่ง" ที่มีรายละเอียดดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานแกร่ง ครองตลาด 13% ของโลก 

ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตชิปทั้งหมดนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ 

     1) กลุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ (Fabless) เช่น NVIDIA และ Qualcomm จากสหรัฐ เป็นกลุ่มที่มีโนว์ฮาวเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่ส่วนใหญ่จะจ้างผลิต 
    2) กลุ่มรับจ้างผลิต (Foundries) ปัจจุบันกลุ่มเอเชียตะวันออกครองตลาดส่วนนี้อยู่ เช่น TSMC (ไต้หวัน) Samsung (เกาหลีใต้) และ SMIC (จีน) 
     3) กลุ่มทำแพ็กเกจ ประกอบ และทดสอบชิป (Outsourced Semiconductor Assembly and Test: OSAT) เป็นงาน Back end ที่ครองตลาดโดยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและอาเซียน 

ปัจจุบัน "มาเลเซีย" ถือเป็นผู้นำในภูมิภาคของกลุ่มที่ 3 ครองตลาด OSAT ในสัดส่วนถึง 13% ของทั่วโลก และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีรากฐานที่แข็งแกร่งตั้งแต่การเข้ามาลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรกของบริษัท Intel Corporation ในปี 2515 จากการเปิดเขตการค้าเสรีในปีนังและนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านชิป และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมชิปในมาเลเซีย 

หลังจากนั้นก็มีบริษัทระดับโลกทยอยเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปลายน้ำ แต่ยังมีบริษัทในกลุ่มการผลิต Front end ที่เข้ามาลงทุนด้านการผลิตชิปในมาเลเซียด้วย อาทิ Infineon Technologies ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในเยอรมนี และ Texas Instruments บริษัทออกแบบ ผลิต และทดสอบชิปรายใหญ่จากสหรัฐ ทำให้มาเลเซียมีภาษีที่ดีในแง่โครงสร้างพื้นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขั้นสูง ภายใต้แรงงานมีฝีมือ และโครงสร้างนิคมอุตสาหกรรม 600 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถต่อยอดถึงการลงทุนยุคใหม่เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ได้ดีขึ้น

ต่อยอดชัดเจนบนแผนยุทธศาสตร์ชิป

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียไม่ได้หยุดแค่การกินบุญเก่ากับเป้าหมายฮับระดับภูมิภาค แต่ประกาศ "วิสัยทัศน์" มุ่งเป้าไปสู่ระดับโลกภายใต้ "แผนแม่บทอุตสาหกรรมฉบับใหม่ 2030" และ "ยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ" ที่ออกมารองรับวิสัยทัศน์ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อเดือนก.ย.2566 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ได้ประกาศแผนแม่บทด้านอุตสาหกรรมฉบับใหม่ปี 2030 (New Industrial Master Plan: NIMP 2030) โดยมีเป้าหมายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศครั้งใหญ่ภายในปี 2030 ให้มีความสามารถในการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนสูง เพื่อให้ตอบโจทย์กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และประเด็นที่น่าสนใจคือ นี่คือครั้งแรกที่มาเลเซียเปลี่ยนรูปแบบของแผนฯ จาก sectoral-based ที่เน้นการปฏิรูปเป็นรายภาคอุตสาหกรรม มาเป็นรูปแบบ mission-based ที่เลือกเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมาย 4 ด้านของแผนแม่บทเป็นหลักแทน

ทิศทางของมาเลเซียยิ่งชัดเจนขึ้นด้วยการตอกย้ำผ่าน "ยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ" ที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งปั้นมาเลเซียเป็น "ศูนย์กลางผลิตชิประดับโลก" ด้วยการทุ่มงบเฉียด 2 แสนล้านบาท เพื่อฝึกอบรมวิศวกรทักษะสูงจำนวน 60,000 คน พร้อมตั้งเป้าดึงดูดการลงทุน 5 แสนล้านริงกิต (เกือบ 4 ล้านล้านบาท) ภายใน 10 ปี

รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 25,000 ล้านริงกิต (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) ในช่วง 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า โดยใช้เงินจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ คาซานาห์ เนชั่นแนล เพื่อส่งเสริมบุคลากร และพัฒนาบริษัทท้องถิ่น โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และบริษัทต่างๆ ตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรคนจำนวน 60,000 คนตั้งแต่การออกแบบ การบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการทดสอบชิป และมีแผนจัดตั้งบริษัทท้องถิ่นอย่างน้อย 10 แห่งในด้านการออกแบบ และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูงสำหรับชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีรายได้ระหว่าง 210 ล้าน ถึง 1 พันล้านดอลลาร์

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเดินหน้าพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยในเดือนเม.ย. รัฐบาลประกาศแผนจะสร้าง "นิคมอุตสาหกรรมออกแบบแผงวงจรรวมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน" ซึ่งเป็นความพยายามที่จะยกระดับฝีมือตัวเองไปสู่ขั้น “การออกแบบชิป” ที่มีมูลค่าสูง แทนการประกอบและทดสอบชิปอย่างที่เคยทำมา โดยนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการยกเว้นภาษี สนับสนุนเงินอุดหนุน และค่าธรรมเนียมการยกเว้นวีซ่า เพื่อดึงดูดเหล่าบริษัทเทคโนโลยี และนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน


การเมืองอยู่ในสภา วางสถานะเป็นกลาง 'จีน-สหรัฐ'

การเมืองนิ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าการเมืองดีไม่มีปัญหาภายใน เพราะที่ผ่านมาในรอบ 6 ปี มาเลเซียเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปแล้วถึง 4 คน ไล่ตั้งแต่มหาเธร์ โมฮัมหมัด, มูห์ยิดดิน ยัสซิน, อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ มาจนถึงคนปัจจุบัน อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งในการเลือกตั้งล่าสุดปี 2565 ก็เคยเกิดภาวะสภาแขวนมาแล้วเมื่อไม่มีพรรคใดชนะเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ ทำให้มีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาเพียงใดการเมืองมาเลเซียก็สามารถหาทางออกร่วมกันได้เสมอ และไม่เคยเกิดรัฐประหารยึดอำนาจ โดยครั้งล่าสุดสมเด็จพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ กษัตริย์มาเลเซียช่วยผ่าทางตันทางการเมืองด้วยการเข้ามาประสานไกล่เกลี่ย และเลือกอันวาร์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่อันวาร์เคยระบุว่า การเมืองมาเลเซียจะไร้เสถียรภาพเหมือนกับประเทศไทย หากไม่จับมือพรรคอัมโนตั้งรัฐบาลผสม

ส่วนการเมืองระหว่างประเทศนั้น มาเลเซียพยายามวางสถานะตนเองให้เป็นกลางทางการเมืองระหว่าง "สหรัฐ" กับ "จีน" เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั้งสองประเทศ รวมถึงจากซัพพลายเออร์จากประเทศต่างๆ ที่ต้องการหนีสงครามการค้าของสองประเทศนี้มาอยู่ในประเทศเป็นกลางที่จะไม่โดนลูกหลงทั้งจากสหรัฐ และจีน อันวาร์เองเคยกล่าวนอกรอบระหว่างร่วมประชุมในต่างประเทศหลายครั้งว่า ไม่เห็นด้วยกับการบีบให้ต้องเลือกข้าง พร้อมยืนยันจะรักษาสัมพันธ์กับจีนที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในมาเลเซียต่อไป

จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจัยพื้นฐานของมาเลเซียจะสามารถดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่จากสหรัฐได้อย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถดึงดูดการลงทุนจากจีนได้ด้วย โดยมีรายงานข่าวทางรอยเตอร์สว่า บริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์จีนจำนวนมากกำลังจับมือกับบริษัทในมาเลเซียเพื่อให้ประกอบชิปไฮเอนด์บางส่วน เช่น ชิปหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) เนื่องจากจีนต้องการป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่สหรัฐขยายมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมชิปของจีน

บริษัทจีนมองมาเลเซียเป็นศูนย์กลางสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ จึงเป็นสถานที่ ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาทำธุรกิจเพิ่มเติมในขณะที่จีนต้องการกระจายความเสี่ยงด้านการประกอบชิปออกนอกประเทศ และมาเลเซียยังเป็นตัวเลือกที่ดีในแง่ของการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน มีแรงงานที่มีประสบการณ์แต่ค่าแรงย่อมเยา และมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย

ที่มา: ITD, SCBEIC, Nikkei Asia, กรุงเทพธุรกิจ

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์