สื่อนอกชี้ ‘ซีรีส์วายไทย’ ทำถึงทำดี ! มีแฟนคลับคลั่งไคล้ทั่วเอเชีย

สื่อนอกชี้ ‘ซีรีส์วายไทย’ ทำถึงทำดี ! มีแฟนคลับคลั่งไคล้ทั่วเอเชีย

สื่อบันเทิงทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือละคร ประเภทที่นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย (Boys' Love) ของประเทศไทย กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ แฟนคลับต่างชาติถึงกับเอ่ยปากว่า ทำออกมาดีกว่าประเทศของตนเองเสียอีก

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า สื่อประเภท Boys' Love มีจุดเริ่มต้นมาจากการ์ตูนมังงะญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษ 1960 หรือที่เรียกว่า “yaoi” อ่านว่า ยาโอย หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า วาย (Y) ขณะนี้กลายเป็นสินค้าส่งออกเชิงวัฒนธรรมที่กำลังมาแรงของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการยอมรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย

หวง ปิงปิง” สาวชาวจีนวัย 36 ปี ที่เหนื่อยล้า และมีความเครียดจากการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศบ้านเกิดของตนเอง ได้ค้นพบสิ่งที่ช่วยทำให้เธอผ่อนคลายในยามที่เธอดิ่งจนถึงจุดต่ำสุดคือ การได้ชมซีรีส์ไทยที่นำเสนอเรื่องราวความรักของผู้ชายสองคนอย่างเรื่อง “Love by Chance” หรือชื่อไทยเรียกว่า “บังเอิญรัก

หวงเผยกับเอเอฟพีว่า เธอพบซีรีส์เรื่องนี้ผ่านคลิปในโซเชียลมีเดียเมื่อ 5 ปีก่อน และตกหลุมรักไปกับความรักของตัวละครในทันที

จากนั้นหวงก็ย้ายมาอยู่ประเทศไทย ในปีต่อมาเพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังได้รับแรงบันดาลใจจากนักแสดงในซีรีส์ไทย และกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบสื่อประเภท Boys' Love ที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชีย

“ผู้คนที่นี่ไม่สนเรื่องเพศ และความรักทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่นี่ มีแต่ความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นระหว่างชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือเพศที่สามก็ตาม” หวง กล่าวถึงประเทศไทยที่เปิดกว้างต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ทั้งนี้ ซีรีส์วายที่นำเสนอเรื่องราวคู่รักหน้าตาดี เนื้อเรื่องโรแมนติก และวางบทให้ตัวละครซื่อสัตย์ต่อตนเอง เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ชมหญิงแท้ และสื่อประเภท Boys' Love หรือ BL เป็นสื่อบันเทิงที่นิยมอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหลายตอนมียอดชมออนไลน์มากถึงหลายสิบล้านครั้ง

ในงานโปรโมตภาพยนตร์หรือซีรีส์ประเภทดังกล่าว มีแฟนคลับมากมายต่อแถวเป็นชั่วโมงเพื่อรอพบกับนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ บางงานมีแฟนคลับต่อแถวรอยาวกว่าแฟนคลับที่ชื่นชอบเคป็อปเสียอีก

ขณะที่สื่อประเภท Girls' love หรือสื่อบันเทิงที่นำเสนอเรื่องราวความรักของผู้หญิงกับผู้หญิง กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน

ในปีนี้ หวงเป็นตัวแทนกลุ่มแฟนคลับชาวจีนที่ชื่นชอบสื่อแนว Girls' Love ได้ส่งดอกไม้ขนาดใหญ่ที่ภายในเต็มไปด้วยธนบัตร 1,000 บาท ให้กับงานโปรโมตซีรีส์หญิงรักหญิงด้วย

ซีรีส์วายไทย ครองใจแฟนคลับต่างชาติ

สื่อ BL ของไทย ประสบความสำเร็จในประเทศจีนอย่างมาก แม้รัฐบาลจีนไม่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ ผลิตหรือเผยแพร่สื่อ เช่น ละคร ที่เกี่ยวกับชายรักชาย

“เพราะว่าเราชอบ เราจะหาทางดูให้ได้ ... แม้เราไม่สามารถหาทางได้ด้วยตนเอง เราก็จะถามคนอื่นว่าดูจากไหน และทำตามที่เขาบอก” หวง กล่าว

ขณะที่ซีรีส์ BL ของไทยก็ครองใจแฟนคลับชาวญี่ปุ่นเช่นกัน

ในกรุงโตเกียว มีร้านคาเฟ่ธีมไทยที่กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมในกลุ่มแฟนคลับซีรีส์ BL ซึ่งผนังของร้านเต็มไปด้วยรูปภาพของนักแสดงจากซีรีส์ BL มากมาย และ Kira Thu-Ha Trinh ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าร้านประจำของคาเฟ่แห่งนี้

Trinh เผยว่า สื่อแนว BL ดังเป็นพลุแตกในญี่ปุ่นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนไม่ค่อยมีอะไรทำ ส่วนใหญ่มักดูแค่โทรทัศน์

“คุณชมสื่อของญี่ปุ่นไปหมดแล้ว และปกติละคร BL จะมีเรื่องเดียว และซีซันเดียว ถ้าอยากลองดื่มด่ำไปกับสื่อแนวนี้อีก อัลกอริทึมจะนำเสนอสื่อนี้มาให้คุณ ... อาจดูหยาบไปหน่อย แต่ไทยทำออกมาได้ดีกว่านะ” Trinh กล่าว

การผลิตสื่อ BL ในไทยเติบโตอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และบริษัทที่ผลิตสื่อเหล่านี้ได้จัดงานให้นักแสดงพบปะแฟนๆ ทั้งใน และต่างประเทศทั่วเอเชีย

ตามข้อมูลที่ “ภูวิน บุณยะเวชชีวิน” นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน เอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวบรวม พบว่า การผลิตสื่อ BL ในไทย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 19 เรื่อง ในระหว่างปี 2557 - 2561 สู่ระดับ 29 เรื่อง ในระหว่างปี 2564 - 2565

ภูวินบอกว่า ซีรีส์วายไทยกลายเป็นที่นิยมแม้กระทั่งในกลุ่มสังคมอนุรักษนิยม เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่แฟนคลับในประเทศเหล่านี้มีความระมัดระวังมากกว่าแฟนคลับประเทศอื่นๆ

“มีแฟนคลับกลุ่มใหญ่มากในประเภทเหล่านั้น แต่พวกเขาไม่สามารถแสดงตัวตนว่าเป็นแฟนคลับตัวยงของสื่อ BL ได้อย่างเปิดเผย เพราะมีข้อจำกัดทางสังคมวัฒนธรรม เช่น ด้านศาสนา” ภูวิน กล่าว

ไทยดันซีรีส์วาย เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้น

ในปีนี้ประเทศไทยเตรียมผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินการดังกล่าว แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหว LGBTQ บอกว่า ยังคงต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อไป

นักวิจัยจากมธ. เผยด้วยว่า แม้ซีรีส์ BL ได้รับความนิยม แต่ยังไม่ได้สะท้อนถึงความท้าทายที่กลุ่ม LGBTQ ในไทยกำลังเผชิญ

“บางครั้งชีวิตเกย์ในประเทศไทยก็มีเรื่องน่าเศร้า พวกเขามีปัญหาครอบครัว แต่ไม่มีใครอยากดูโศกนาฏกรรมหรอก”

คนบางกลุ่มในอุตสาหกรรมซีรีส์ BL จึงหวังว่า งานของพวกเขาจะสามารถส่งเสริมสิทธิให้กับ LGBTQ ได้บ้าง เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ และการสมรสเท่าเทียมในวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture)

ด้านศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา หรือ เซ้นต์ นักแสดงที่ไม่รับเล่นซีรีส์บังเอิญรักภาค 2 ต่อ และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์เป็นของตนเองในปี 2563 เผยผ่านงานบวงสรวงซีรีส์ประเภท Girls' Love ว่า ตนตั้งเป้าผลิตสื่อที่ให้มากกว่าเรื่องราวโรแมนติก

“ผมเห็นโอกาสมากมายในซีรีส์ BL เช่น การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และการสมรสเท่าเทียม” เซ้นต์ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์