ถอดนโยบาย ‘สิงคโปร์’ ทำสงคราม ‘เบาหวาน’! แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

ถอดนโยบาย ‘สิงคโปร์’ ทำสงคราม ‘เบาหวาน’! แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

เรียนรู้วิธีสู้ภัย “เบาหวาน” จาก “นโยบายสิงคโปร์” ซึ่งเป็นแนวทางรุกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการประสานบริษัทเครื่องดื่มให้ลดน้ำตาลลง ติดฉลากแบ่งเกรดเครื่องดื่ม ไม่เว้นแม้แต่เครื่องดื่มชงสด ไปจนถึงขั้นแบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

KEY

POINTS

  • ชาวสิงคโปร์บริโภคน้ำตาลเฉลี่ยที่ 60 กรัม หรือคิดเป็น 12 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม
  • เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้บังคับใช้มาตรการติดฉลาก Nutri-Grade กับเครื่องดื่มแบบชงสดหน้าร้าน ไม่ว่าชานมไข่มุกยอดฮิตในสิงคโปร์ น้ำผลไม้คั้นสด สมูทตี้ และเครื่องดื่มชากาแฟ
  • สิงคโปร์เป็น “ประเทศแรกในโลก” ที่จะออกกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูงบนทุกสื่อมวลชนในประเทศ ตั้งแต่โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน และช่องทางออนไลน์

“เบาหวาน” ภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพประชาชนทั่วโลก ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมโรคของไทยระบุไว้ว่า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเบาหวาน 1 คนในทุก ๆ 5 วินาที โดยในปัจจุบัน มีคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 5.2 ล้านคน

ด้วยโรคเรื้อรังที่พบเห็นได้ทั่วโลก มีประเทศหนึ่งที่มี “นโยบายเชิงรุก” ในการสู้กับเบาหวาน ตั้งแต่การติดฉลากแบ่งเกรดสุขภาพเครื่องดื่มเป็น 4 ระดับตามระดับน้ำตาล ไม่เว้นแม้แต่ชานมไข่มุกยอดฮิตก็ต้องติดฉลากด้วย ประสานบริษัทเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้ลดปริมาณน้ำตาล ไปจนถึง “เป็นประเทศแรกของโลก” ที่แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูงในทุกช่องทาง ชื่อประเทศนั้น คือ “สิงคโปร์”

จุดเริ่มต้นของนโยบายนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จากการที่ชาวสิงคโปร์ไม่น้อยบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากเกินไป โดยบริโภคเฉลี่ยที่ 60 กรัม หรือคิดเป็น 12 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งกว่า 60% มาจากการบริโภคเครื่องดื่ม ตัวเลขนี้สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง จำนวนผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มพุ่งเป็น 1 ล้านคนภายในปี 2593 ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงประกาศนโยบายระดับชาติ “ทำสงครามกับเบาหวาน” ดังนี้

ติดฉลากระดับน้ำตาลของเครื่องดื่ม

ขณะที่เครื่องดื่มของประเทศอื่นมักติดฉลากปริมาณน้ำตาลไว้ตรง “ข้างหลังของขวด” สิงคโปร์ติดฉลากนี้ไว้ที่ “ข้างหน้าขวด” ที่ชื่อว่าฉลาก “Nutri-Grade” และเพื่อทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รัฐบาลได้ทำฉลากนี้ออกเป็น 4 แบบตามระดับปริมาณน้ำตาลและไขมันอิ่มตัว ดังนี้

1. เกรด A (สีเขียวเข้ม) เป็นหมวดเครื่องดื่มในเกณฑ์น้ำตาลและไขมันอิ่มตัวต่ำที่สุด

2. เกรด B (สีเขียวอ่อน) มีน้ำตาลน้อยรองลงมา

3. เกรด C (สีส้ม) มีน้ำตาลค่อนข้างมาก

4. เกรด D (สีแดง) มีน้ำตาลมากที่สุดและไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด

ถอดนโยบาย ‘สิงคโปร์’ ทำสงคราม ‘เบาหวาน’! แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ถอดนโยบาย ‘สิงคโปร์’ ทำสงคราม ‘เบาหวาน’! แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูง - ฉลาก Nutri-Grade 4 แบบ (เครดิต: CNA) -

สำหรับเครื่องดื่มที่อยู่ในเกรด C และ D ต้องติดฉลาก Nutri-Grade ที่ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเตือนผู้บริโภคให้ทราบว่า “มีน้ำตาลในปริมาณสูง

ส่วนเครื่องดื่มกลุ่มเกรด D จะถูก “ห้ามโฆษณา” บนทุกสื่อมวลชนในประเทศ ตั้งแต่โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน และช่องทางออนไลน์ โดยสิงคโปร์เป็น “ประเทศแรกในโลก” ที่จะออกกฎหมายห้ามโฆษณาในลักษณะนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. ปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้ยกระดับบังคับใช้มาตรการนี้กับเครื่องดื่มแบบชงสดหน้าร้านแล้ว ไม่ว่าชานมไข่มุกยอดฮิตในสิงคโปร์ น้ำผลไม้คั้นสด สมูทตี้ และเครื่องดื่มชากาแฟ ต้องติดฉลาก Nutri-Grade บนเมนูทั้งแบบสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ 

ถอดนโยบาย ‘สิงคโปร์’ ทำสงคราม ‘เบาหวาน’! แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูง - ฉลาก Nutri-Grade บนเครื่องดื่มชงสด (เครดิต: MOH) -

ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกปรับสูงสุด 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 27,000 บาทสำหรับความผิดครั้งแรก และหากมีการกระทำผิดซ้ำ ปรับสูงสุด 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 54,000 บาท

ขณะที่เครื่องดื่มเกรด A และ B ที่มีน้ำตาลน้อย สามารถขอใช้ตราสัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ หรือ Healthier Choice Symbol (HCS) จากคณะกรรมการส่งเสริมคุณภาพของประเทศได้

ทางการสิงคโปร์กล่าวว่า “การบังคับใช้ฉลากโภชนาการ Nutri-Grade เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวของกระทรวงสาธารณสุขที่ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ ในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายลดการบริโภคน้ำตาลในประชาชนลง”

ถอดนโยบาย ‘สิงคโปร์’ ทำสงคราม ‘เบาหวาน’! แบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูง - เครื่องดื่มในสิงคโปร์ติดฉลาก Nutri-Grade ไว้ด้านหน้า (เครดิต: ST FILE) -

ขอความร่วมมือบริษัทเครื่องดื่มให้ลดน้ำตาลลง

นอกจากติดฉลากบนเครื่องดื่มแล้ว รัฐบาลได้ประสานให้เหล่าผู้ผลิตเครื่องดื่มผสมน้ำตาลและน้ำอัดลมลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มทั้งหมดที่จำหน่ายในสิงคโปร์

ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ในช่วงนั้นกล่าวว่า “เพียงน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ก็สามารถมีน้ำตาลถึง 8 ก้อน ซึ่งมากกว่าที่คุณต้องการตลอดทั้งวัน โดย 1 ใน 9 ของชาวสิงคโปร์ป่วยเป็นโรคเบาหวาน”

ลีมองอีกว่า แม้โรงอาหารในโรงเรียนจะถูกบังคับไม่ให้ขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 6 เปอร์เซ็นต์ ‘แต่ก็แทบไม่ช่วยแก้ปัญหาเลย’ เพราะเด็กๆ ยังสามารถซื้อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเต็มจากร้านสะดวกซื้อนอกโรงเรียน

ในที่สุด ด้วยคำขอจากทางการสิงคโปร์ เหล่าบริษัทเครื่องดื่ม Coca-Cola, F&N Foods, Malaysia Dairy Industries, Nestle, PepsiCo, Pokka, และ Yeo Hiap Seng ก็ตกลงลดปริมาณน้ำตาลลงเหลือราว 12 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัท Coca-Cola ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวต้อนรับแผนการดังกล่าวและจะทำงานเพื่อลดระดับน้ำตาลในเครื่องดื่มที่ขายในสิงคโปร์

"เราจะยังคงพิจารณาสูตรของเราหลายอย่างในสิงคโปร์ เพื่อลดน้ำตาล เพราะแม้ว่าน้ำตาลในปริมาณพอดีจะไม่เป็นปัญหา แต่เราเห็นด้วยว่า น้ำตาลมากเกินไปไม่ดีต่อใคร" อาห์เหม็ด เยเฮีย (Ahmed Yehia) ผู้จัดการของบริษัทโคคา-โคล่าสาขาสิงคโปร์และมาเลเซียกล่าว

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ได้แถลงการณ์ว่า “บริษัทเหล่านี้ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลบรรจุสำเร็จรูปในสิงคโปร์ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ การดำเนินการนี้อาจลดการบริโภคน้ำตาลลงได้ประมาณ 300,000 กิโลกรัมต่อปี”

บริษัทเครื่องดื่มหวานหันมาปรับตัว

หลังจากในปีที่แล้ว รัฐบาลบังคับให้ร้านที่ขายเครื่องดื่มชงสดอย่าง ชานมไข่มุก ต้องติดฉลาก Nutri-Grade ด้วย อคิลาห์ อะซิซ (Aqilah Aziz) หัวหน้าฝ่ายการตลาดอาวุโสของบริษัท Royal T Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเครื่องดื่ม LiHo กล่าวว่า ลูกค้าบางกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพได้เปลี่ยนไปบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง หลังจากนำระบบ Nutri-Grade มาใช้ในเครื่องดื่มที่เตรียมสดใหม่

บริษัท LiHo ได้ปรับโฉมเมนูเครื่องดื่มชุดใหม่ โดยอคิลาห์ กล่าวว่า "เราได้ปรับสูตรเครื่องดื่มใหม่ทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องดื่มส่วนใหญ่ของเราจะไม่อยู่ในกลุ่ม D เพราะหากอยู่ในกลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดมากมายในการทำโปรโมชัน เราได้ลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม และตัดน้ำตาลออกจากวัตถุดิบตั้งต้นด้วย"

นโยบายสู้เบาหวานของรัฐบาลสำเร็จไหม

นับตั้งแต่รัฐบาลสิงคโปร์ทำสงครามเบาหวานตั้งแต่ปี 2559 แม้ว่าผลการสำรวจสุขภาพประชากรแห่งชาติล่าสุดจะแสดงให้เห็นว่า อัตราความชุกของโรคเบาหวานได้เพิ่มขึ้นจาก 8.8% ในปี 2560 เป็น 9.5% ในปี 2563 แต่หลังจากปรับตามอัตราส่วนประชากรสูงอายุแล้ว อัตราการเกิดเบาหวานที่ปรับตามอายุ ยังคงที่ตลอดช่วงเวลาเดียวกันที่ 7.9% สะท้อนถึงผลความคืบหน้าของนโยบายสู้เบาหวานนี้

ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายดังกล่าวยังกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวไปตรวจคัดกรองเบาหวาน โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 40 ถึง 49 ปี ได้เพิ่มขึ้นจาก 60.7% ในปี 2560 เป็น 62.5% ในปี 2563 ซึ่งช่วยให้พวกเขารู้ตัวเร็วและรีบรักษาอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะสายไป

นอกจากนั้น ออง เย คุง (Ong Ye Kung) รัฐมนตรีสาธารณสุขของสิงคโปร์ยังระบุว่า การควบคุมโรคเบาหวานก็ดีขึ้น โดยอัตราความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ลดลงนับตั้งแต่ปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2562 ดังนี้

จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลันที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยลดลงจาก 4.2 เป็น 3.6 คนต่อผู้ป่วยเบาหวาน 1,000 คน

อัตราผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นและตาบอด ลดลงจาก 6.2 เป็น 4.5 คน และอัตราการตัดขาเนื่องจากเบาหวาน ลดลงจาก 116 คนเป็น 66.3 คนต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน 100,000 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน

เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็น “แนวทางสู้เบาหวานของสิงคโปร์” ที่ทั้งใช้ฉลากกระตุ้นให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากขึ้น ประสานยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มให้ลดน้ำตาลลง ไปจนถึงแบนโฆษณาเครื่องดื่มน้ำตาลสูงจากทุกช่องสื่อ ซึ่งนอกจากกระตุ้นความตื่นตัวเรื่องน้ำตาลในหมู่ประชาชนแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานด้วย ตัวอย่างนโยบายสิงคโปร์นี้ ไทยอาจลองนำไปปรับใช้ได้

อ้างอิง: yahoochannelcha6musttodaystraitstimesreutersstraitsing