บทบาทและผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการประชุมเอสแคป สมัยที่ 80 | World Wide View

บทบาทและผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการประชุมเอสแคป สมัยที่ 80 | World Wide View

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แสดงวิสัยทัศน์ผ่านการประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ 80 เน้นผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผลลัพธ์จากการประชุม อาทิ การเรียกร้องร่วมมือระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น และการริเริ่มเชิงกลยุทธ์ใช้เทคฯดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ท่ามกลางการประชุมสำคัญของสหประชาชาติหรือ “ยูเอ็น” ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี หนึ่งในการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเร่งรัดการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือ การประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันในนาม “เอสแคป” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

ในปีนี้ การประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ 80 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-26 เมษายน 2567 ภายใต้หัวข้อ “การนำนวัตกรรมดิจิทัลมาส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” (Leveraging Digital Innovation for Sustainable Development in Asia and the Pacific) โดยในฐานะประเทศที่เป็นที่ตั้งของเอสแคป ไทยได้แสดงบทบาทอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์ในการประชุม

ในช่วงพิธีเปิด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงและแสดงวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ และเสริมสร้างระบบการเงินดิจิทัลที่เข้มแข็ง พร้อมย้ำความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยทุกประเทศในภูมิภาคต้องร่วมมือกันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลเป็นไปอย่างปลอดภัยและเป็นธรรมต่อทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมสำหรับทุกคน

นอกจากนั้น นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำกับฝ่ายเอสแคป ภายใต้บรรยากาศการต้อนรับที่มีการสาธิตมวยไทยและการแสดงนาฏศิลป์ชุดระบำสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศต่าง ๆ ด้วย ขณะที่นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย เน้นความสำเร็จของไทยในการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการดำเนินนโยบายและโครงการต่าง ๆ ทั้งในด้านการส่งเสริมการลงทุน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการนำระบบคลาวด์มาใช้ในการบริหารข้อมูลภาครัฐ อีกทั้งยังมีผู้บริหารกระทรวงฯ และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยร่วมกล่าวถ้อยแถลงในวาระอื่นตลอดการประชุมฯ

ในโอกาสนี้ มี 3 หน่วยงานไทยที่ร่วมจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ได้แก่ (1) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กับนิทรรศการสมุดสุขภาพ “Health Book” (2) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับนิทรรศการ “AI for Better Life” และ (3) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กับนิทรรศการเทคโนโลยีอวกาศที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

ผลลัพธ์สำคัญของการประชุม คือ การเรียกร้องให้มีความร่วมมือระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น การริเริ่มเชิงกลยุทธ์เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก ซึ่งเอสแคปและประเทศสมาชิกต่าง ๆ รวมถึงไทย ต้องนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

การประชุมเอสแคป สมัยที่ 80 เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิกในการพบหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับอุปสรรค ความท้าทาย และการดำเนินการต่อไปเพื่อขับเคลื่อนการนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ในภูมิภาคภายในปี 2573 ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงกับประชาชน