ไขปริศนา ‘ผีเสื้อจักรพรรดิ’ ในรูปวาดของ ‘พระเจ้าชาลส์ที่ 3’
เผยความหมายของผีเสื้อปริศนา บนไหล่ "พระเจ้าชาลส์ที่ 3" ในภาพวาดภาพแรกอย่างเป็นทางการหลังขึ้นครองราชย์ นั่นคือ "ผีเสื้อจักรพรรดิ" เป็นสัญลักษณ์แทนการเปลี่ยนผ่านเจ้าชายไปสู่พระมหากษัตริย์ โดยปัจจุบัน ผีเสื้อชนิดนี้ลดลงอย่างมาก จนถูกขึ้นบัญชีแดงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
KEY
POINTS
- พระบรมสาทิสลักษณ์ภาพนี้ ถือเป็นภาพแรกของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นภาพที่กษัตริย์ชาลส์ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหารรักษาพระองค์ชาวเวลส์ ทรงประสานพระหัตถ์ไว้บนดาบ มีสีพื้นหลังเป็นสีแดงเข้ากับสีฉลองพระองค์
-
หากสังเกตดูดี ๆ จะพบว่าในภาพวาดดังกล่าว มี “ผีเสื้อ” บินอยู่เหนือพระอังสา (ไหล่) ด้านขวาของพระองค์ เพราะผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ของหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ประการแรก ผีเสื้อนี้คือ “ผีเสื้อจักรพรรดิ” จึงเหมาะสมเป็นตัวแทนของกษัตริย์
-
ผีเสื้อจักรพรรดิ เป็นผีเสื้อที่พบได้มากในทวีปอเมริกาเหนือ ในอดีตผีเสื้อเหล่านี้มีจำนวนนับล้านตัว แต่ปัจจุบันจำนวนของพวกมันลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากคุกคามจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงร่วมกันเปิดตัวพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่พระราชวังบักกิงแฮม ภาพวาดฝีมือของโจนาธาน โยว ศิลปินชาวอังกฤษ โดยพระบรมสาทิสลักษณ์ภาพนี้ ถือเป็นภาพแรกของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์
พระบรมสาทิสลักษณ์ภาพนี้ เป็นภาพวาดสีน้ำมันมีขนาด 7.5 ฟุต x 5.5 ฟุต เป็นภาพที่กษัตริย์ชาลส์ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหารรักษาพระองค์ชาวเวลส์ ทรงประสานพระหัตถ์ไว้บนดาบ มีสีพื้นหลังเป็นสีแดงเข้ากับสีฉลองพระองค์ ซึ่งเป็นการเน้นให้พระพักตร์ของพระองค์ลอยเด่นขึ้น
โยวให้เหตุผลที่เลือกใช้สีแดงเป็นพื้นหลังเพราะว่า ต้องการสร้างภาพเหมือนของราชวงศ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น สะท้อนความปรารถนาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต้องจะเป็นกษัตริย์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ลดจำนวนราชวงศ์ที่ทำงาน และลดขนาดการจัดงานพิธีราชาภิเษก แต่ดูเหมือนว่าผู้คนที่ได้เห็นภาพนี้อาจไม่ได้คิดเช่นนั้น
รูปเหมือน "พระเจ้าชาลส์ที่ 3"
นักวิจารณ์ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ภาพสีแดงไม่ได้บ่งบอกถึงความทันสมัย แต่แสดงให้เห็นว่า “ราชวงศ์กำลังลุกเป็นไฟ” หรือ “ชุ่มโชกไปด้วยเลือด” ทำให้คนต่างคิดไปถึงเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์ในช่วงที่ผ่านมา
ตั้งแต่ เจ้าชายแฮร์รีตีพิมพ์หนังสือบันทึกความทรงจำ “Spare” ไล่มาจนถึงการประท้วงต่อต้านราชวงศ์อังกฤษของประชาชนบางส่วน ตลอดจนอาการประชวรด้วยโรคมะเร็งของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปจากสื่อของแคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ทั้งนี้พระบรมสาทิสลักษณ์ดังกล่าวจะจัดแสดงให้สาธารณชนได้เข้าชม ณ ฟิลิป โมลด์ แกลลอรี ในกรุงลอนดอน ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม-14 มิถุนายน และจะย้ายไปจัดแสดงที่ เดรเปอร์ส ฮอลล์ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
“ผีเสื้อจักรพรรดิ” สัญลักษณ์แทน “พระเจ้าชาลส์ที่ 3”
หากสังเกตดูดี ๆ จะพบว่าในภาพวาดดังกล่าว มี “ผีเสื้อ” บินอยู่เหนือพระอังสา (ไหล่) ด้านขวาของพระองค์
โยว ผู้วาดภาพดังกล่าวได้ให้เหตุผลที่ต้องมีผีเสื้อในพระบรมสาทิสลักษณ์ เพราะผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ของหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ประการแรก ผีเสื้อนี้คือ “ผีเสื้อจักรพรรดิ” ซึ่งมีสีส้ม สีดำ และสีขาว เชื่อกันว่าผีเสื้อชนิดนี้ถูกตั้งชื่อตาม สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ซึ่งประสูติในประเทศเนเธอร์แลนด์และเป็นที่รู้จักในนาม วิลเลียมแห่งออเรนจ์ จนกระทั่งพระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์ในอังกฤษ
ในการให้สัมภาษณ์กับ BBC ศิลปินผู้วาดภาพยังเปิดเผยว่า พระเจ้าชาลส์ทรงแนะนำให้เพิ่มผีเสื้อเข้าไปในภาพ โยวได้ทูลถามพระองค์ว่า “ในอีก 200 ปีข้างหน้า เมื่อเด็กนักเรียนมาดูภาพนี้ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่ากษัตริย์ในรูปนี้เป็นใคร เราจะให้ข้อมูลอะไรแก่พวกเขาได้บ้าง”
ตามคำกล่าวของโยว คำตอบของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 คือ
“ถ้าให้ผีเสื้อบินมาเกาะบนไหล่ของฉันล่ะ ?”
นอกจากนี้ ผีเสื้อยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จากเจ้าชายสู่กษัตริย์อีกด้วย ในช่วงที่โยวเริ่มต้นวาดภาพนี้ พระเจ้าชาลส์ยังคงมีสถานะเป็น “เจ้าชายแห่งเวลส์” แต่เมื่อเขาวาดภาพนี้เสร็จสมบูรณ์ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์
“ในบริบทของประวัติศาสตร์ศิลปะ ผีเสื้อมักเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงและการเกิดใหม่ และด้วยเหตุนี้จึงคล้ายคลึงกับระยะเปลี่ยนผ่านของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จากเจ้าชายไปสู่พระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาที่วาดภาพนี้” โยวเขียนบนเว็บไซต์ของเขา
"พระเจ้าชาลส์ที่ 3" ทรงเปิดตัวพระบรมสาทิสลักษณ์ ร่วมกับโจนาธาน โยว ผู้วาดรูป
ที่สำคัญ ผีเสื้อยังเป็นการแสดงความเคารพต่อความหลงใหลในสิ่งแวดล้อมของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 มีมาอย่างยาวนาน เป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์ทรงสนับสนุนความยั่งยืนและปกป้องสิ่งแวดล้อมมานานหลายทศวรรษ ก่อนที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่กระแสหลัก
ตัวอย่างเช่น ในปี 1970 พระองค์ทรงมีพระราชกระแสเกี่ยวกับผลกระทบของมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงพระองค์มักจะตรัสวิงวอนรัฐบาลและภาคธุรกิจดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในงานต่าง ๆ เช่น การประชุมสุดยอด G-7 และ COP26
“ผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ของความงามและความไม่มั่นคงของธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงอุทิศชีวิตเกือบทั้งหมดให้แก่การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นหลักในสังคมเสียอีก” โยวกล่าว
ผีเสื้อจักรพรรดิ
“ผีเสื้อจักรพรรดิ” ใกล้สูญพันธุ์
ผีเสื้อจักรพรรดิ เป็นผีเสื้อที่พบได้มากในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นแมลงผสมเกสรที่ช่วยให้ดอกไม้ทำให้ดอกไม้แพร่พันธุ์ได้ดี และเป็นสัตว์อพยพที่แต่ละปีเดินทางกว่า 4,000 กิโลเมตรทั่วทวีปอเมริกาเหนือ ในอดีตผีเสื้อเหล่านี้มีจำนวนนับล้านตัว แต่ปัจจุบันจำนวนของพวกมันลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถูกนำเข้าบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) ในฐานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากคุกคามจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ร่วมมือกับคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติแห่งชาติแห่งเม็กซิโก สำรวจจำนวนผีเสื้อจักรพรรดิในป่าทางตอนกลางของเม็กซิโก ซึ่งเป็นที่ที่ผีเสื้ออาศัยอยู่ช่วงฤดูหนาว พบว่า ในปี 2567 จำนวนผีเสื้อลดลง 59% ครอบครองพื้นที่เพียง 2.2 เอเคอร์ในช่วงฤดูหนาวปี 2566-2567 ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 5.5 เอเคอร์ที่พบในปีก่อน
จำนวนผีเสื้อที่ลดลงนี้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะการสำรวจประชากรทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญเกี่ยวกับสถานะประชากรของสายพันธุ์
พื้นที่ที่อยู่อาศัยของผีเสื้อจักรพรรดิลดลงอย่างมากมีสาเหตุมาจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนมีอุณหภูมิสูงและสภาวะแห้งแล้งทั่วแคนาดาและสหรัฐ ซึ่งเป็นรูปแบบสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของ มิลค์วีด พืชที่มีน้ำยางสีขาวที่ผีเสื้อจักรพรรดิวางไข่ ทำให้ผีเสื้อไม่มีที่วางไข่
นอกจากนี้ ในสหรัฐยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน และใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมากมาย ซึ่งเป็นการทำลายต้นมิลค์วีดและพืชน้ำหวานอื่น ๆ แหล่งอาหารของผีเสื้อจักรพรรดิอีก
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในนิคมผีเสื้อ เราจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้เข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแต่ในเขตสงวนชีวมณฑลผีเสื้อพันธุ์จักรพรรดิเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทุกที่ที่ผีเสื้ออาศัยอยู่” จอร์จ ริคการ์ด ผู้อำนวยการทั่วไปของ WWF เม็กซิโก กล่าว
การอพยพของผีเสื้อจักรพรรดิเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ที่สุดของธรรมชาติ ผีเสื้อบางตัวเดินทางอพยพด้วยระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร จากแคนาดาตอนใต้ ทางตอนเหนือและตอนกลางของสหรัฐอเมริกา ไปยังรัฐมิโชอากัน ที่อยู่ทางตอนกลางของเม็กซิโก
พื้นที่ป่าในเม็กซิโกมีไม่เพียงแต่เป็นที่อยู่อาศัยของผีเสื้อจักรพรรดิเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด รวมถึงนก 132 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 56 ชนิด พืชที่มีท่อลำเลียง 432 ชนิด และเชื้อรา 211 ชนิดอีกทั้งยัง อีกทั้งเป็นที่ตั้งของแม่น้ำคัทซามาลา แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเม็กซิโกหลายล้านคนอีกด้วย
การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของผีเสื้อจักรพรรดิเป็นการตอกย้ำให้มีการอนุรักษ์ที่เข้มงวดมากขึ้นทั่วอเมริกาเหนืออย่างเร่งด่วน การปกป้องสิ่งมีชีวิตที่งดงามและแหล่งที่อยู่ของพวกมันเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยรักษา ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ สุขภาพทางนิเวศวิทยา และความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคให้ยังคงอยู่ต่อไป
ที่มา: BBC, Business Insider, Earth, IUCN