รัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเยือนไทยยกระดับความสัมพันธ์กลาโหม

รัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเยือนไทยยกระดับความสัมพันธ์กลาโหม

ทิโมธี มินโท เอิร์ลแห่งมินโท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และมีความมั่งคั่ง

รัฐมนตรีมินโทได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุทิน คลังแสง เพื่อหารือถึงนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านกลาโหม รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสหราชอาณาจักรและไทยสามารถร่วมมือกันได้ เอิร์ลแห่งมินโทยังได้พบกับ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในระหว่างการเยือนไทยครั้งนี้

การประชุมผู้บริหารกลาโหมระดับสูงในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ด้านความร่วมมือทางกลาโหมสหราชอาณาจักร-ไทย ที่ได้ลงนามไปเมื่อเดือนมีนาคม 2565

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร  ยินดีอย่างยิ่งกับความร่วมมือด้านความมั่นคงและความท้าทายอื่นๆ ของทั้งสองประเทศ

 “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีความสำคัญต่อความมั่งคั่งและความมั่นคงของโลก และสหราชอาณาจักรยังคงทำงานกับประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยเพื่อให้มั่นใจว่าภูมิภาคนี้จะยังคงมีเสรีและเปิดกว้างต่อไป”

รัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเยือนไทยยกระดับความสัมพันธ์กลาโหม

ในระหว่างการเยือน รัฐมนตรีช่วยกลาโหมสหราชอาณาจักรได้จัดประชุมกับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงบริษัท BAE Systems ซึ่งเป็นผู้ผลิตเรือให้กับกองทัพเรือไทย, บริษัท Thales Airbus และ Leonardo โดยได้หารือถึงอุตสาหกรรมด้านกลาโหมที่จะสามารถส่งเสริมความเจริญมั่งคั่งและความมั่นคง รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการรับมือสู่ความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม

ในระหว่างการเยี่ยมคารวะผู้บัญชาการทหารอากาศ เอิร์ลแห่งมินโตได้หารือในประเด็นที่บริษัท SaaB ของสวีเดนได้เสนอจัดซื้อจัดจ้างเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สหราชอาณาจักรถึงกว่า 400 ล้านปอนด์

ความสำเร็จของการเยือนไทยครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่กำลังพล 120 นาย จาก The First Battalion the Royal Gurkha Rifles สหราชอาณาจักรร่วมกับกองพลทหารราบที่ 15 กองทัพบกไทย ทำการฝึกผสมแพนเธอร์โกลด์ (Panther Gold) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยมีเนื้อหาการฝึกการเอาชีวิตรอดในป่าและการซ้อมรบ

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เรือหลวง HMS Spey จากสหราชอาณาจักรได้มาเยือนประเทศไทย และเรือ HMS Tamar ได้มาประจำการในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นการถาวร

ในช่วงที่โลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อเสถียรภาพและความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้น เดือนที่แล้วนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค และแกรนท์ แชปส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมจำนวน 87,000 ล้านปอนด์ ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของจีดีพี

การเดินทางเยือนของรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ เป็นการย้ำให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี การเปิดกว้าง และมีความมั่งคั่ง