สำรวจสังคม ‘เงินหยวนดิจิทัล’ ไม่สะดวกใช้ ไร้ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ?

สำรวจสังคม ‘เงินหยวนดิจิทัล’ ไม่สะดวกใช้ ไร้ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ?

สำรวจการทดลองใช้ "เงินหยวนดิจิทัล" ในกลุ่มอาชีพราชการจีน พบ "นำไปใช้จ่ายได้อย่างจำกัด" และไม่ได้สร้างผลกำไรหากเก็บไว้เฉย ๆ ทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับ "ความเป็นส่วนตัว"

KEY

POINTS

  • “ฉางซู” เทศมณฑลภายใต้การบริหารของเมืองซูโจวในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน เป็นเมืองนำร่องจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน/เจ้าหน้าที่ภาครัฐในรูปแบบ "เงินหยวนดิจิทัล"
  • หลินและกลุ่มพนักงานรัฐในโครงการนำร่องดังกล่าว ก็ไม่นิยมใช้เงินเสมือนจับจ่ายใช้สอยโดยตรง เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่ "ข้อจำกัดในการใช้เงิน"  ไปจนถึง "ความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว"
  • อี้ กัง อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจีนยืนยันว่า เงินดิจิทัลของจีนได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเต็มที่ ผ่าน "การควบคุมข้อมูลแบบนิรนาม"
  • แอปฯชำระเงินออนไลน์ที่มีชื่อเสียงและมีฟังก์ชันที่หลากหลายกว่า เช่น อาลีเพย์ - วีแชทเพย์ เป็น "อุปสรรคใหญ่" ต่อการใช้เงินหยวนดิจิทัล

เมื่อปีก่อน “ฉางซู” เทศมณฑลภายใต้การบริหารของเมืองซูโจวในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน เป็นเมืองนำร่องจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน/เจ้าหน้าที่ภาครัฐในรูปแบบเงินหยวนดิจิทัล ทว่าผู้ได้รับการเงินเดือนรูปแบบนี้ กลับไม่สบายใจที่จะใช้ “เงินดิจิทัล”  ทั้งมีร้านค้ารองรับน้อย และกังวลเกี่ยวกับ “ความเป็นส่วนตัว”

แซมมี หลิน” ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้า (account manager) ของธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งในซูโจว เผยว่า เธอได้รับเงินเดือนผ่านแอปพลิเคชัน “e-CNY” หลังจากนั้นเงินเดือนรูปแบบดิจิทัลนี้ จะโอนเข้าบัญชีธนาคารของเธออัตโนมัติอีกที เพื่อถอนเงินสดออกมาใช้ และสามารถนำเงินไปฝากหรือนำไปใช้ได้ตามที่เธอต้องการ

หลิน ถือเป็นหนึ่งในแรงงานกลุ่มแรกที่ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนเป็นเงินหยวนดิจิทัล ในช่วงที่จีนพยายามสร้างความนิยมให้กับเงินดิจิทัล ผ่านโครงการนำร่องที่เริ่มใช้เงินประเภทดังกล่าวในกลุ่มข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม หลินและกลุ่มพนักงานรัฐในโครงการนำร่องดังกล่าว ก็ไม่นิยมใช้เงินเสมือนจับจ่ายใช้สอยโดยตรง เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่ข้อจำกัดในการใช้เงิน ไปจนถึงความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว

“ฉันไม่อยากเก็บเงินไว้ในแอป e-CNY เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรถ้าเก็บเงินไว้ในนั้น ... และร้านค้าทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ ที่รับเงิน e-yuan ก็ไม่ได้มีหลายแห่งมากนัก”

ส่วนประเด็น “ความเป็นส่วนตัว” ที่ “อี้ กัง” อดีตผู้ว่าธนาคารกลางจีนเคยกล่าวไว้ว่าเป็น “ความท้าทาย” ที่ใหญ่ที่สุดของยุคการเงินดิจิทัลนั้น ทำให้หลายคนเกิดความลังเลในการยอมรับสกุลเงินใหม่นี้

"เงินดิจิทัล" ตรวจสอบธุรกรรมย้อนหลังได้

ตามทฤษฎีแล้ว ธุรกรรมทุกอย่างของ “เงินหยวนดิจิทัล” หรือ “e-CNY” สามารถตรวจสอบธุรกรรมย้อนหลังในบัญแยกประเภทดิจิทัล (digital ledger) โดยสกุลเงินนี้ได้รวมเอาองค์ประกอบบางอย่างของเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามา ซึ่งเป็นโปรโตคอลที่คล้ายการทำงานของคริปโทเคอร์เรนซีที่มีข้อดีด้านความโปร่งใส หรือที่หลายคนขนานนามว่า “อาวุธต่อต้านคอร์รัปชัน”

เยอ ตงหยัน” นักวิจัยจาก Cheung Kong Graduate School of Business ในกรุงปักกิ่ง บอกว่า ความจำเป็นในการสร้างความสมดุลระหว่าง “ความปลอดภัย” และ “ความเป็นส่วนตัว” ฉุดความคืบหน้าในการส่งเสริมการใช้เงินหยวนดิจิทัล

“ธนบัตรใช้จ่ายได้โดยไม่ระบุตัวตน แต่หยวนดิจิทัลแตกต่างออกไป ... ขอบเขตระหว่างการติดตามข้อมูล และการปกป้องความปลอดภัยของข้อมูล ต้องได้รับการพิจารณาเพิ่มเติม”

“เงินหยวนดิจิทัล”  ได้รับการปกป้อง “ความเป็นส่วนตัว” ?

ด้วยความนิยมของสมาร์ตโฟน และการใช้แอปฯชำระเงินออนไลน์อย่างแพร่หลาย อาทิ “อาลีเพย์” และ “วีแชทเพย์” ในชีวิตประจำวัน จีนจึงกลายเป็น “สังคมไร้เงินสด” แต่แพลตฟอร์มเหล่านั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และการทำธุรกรรมด้วยเงินสดยังเป็นทางเลือกที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

อี้ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจีน เผยในการประชุมเมื่อเดือน มี.ค. ณ กรุงปักกิ่ง โดยยืนยันว่า เงินดิจิทัลของจีนได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเต็มที่ ผ่านการควบคุมข้อมูลแบบนิรนาม หมายความว่า การทำธุรกรรมขนาดเล็กจะไม่มีบันทึก “ร่องรอยดิจิทัล” (digital footprint) และจะติดตามธุรกรรมย้อนหลังเฉพาะธุรกรรมขนาดใหญ่

ด้าน “มู่ ชางชุน” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดิจิทัลเคอร์เรนซี ภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติจีน บอกว่า ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับในปัจจุบัน ผู้ใช้เงินหยวนดิจิทัลเพียงแค่ใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือผูกกับกระเป๋าเงินก็สามารถนำเงินไปทำธุรกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆได้ และข้อมูลที่ระบุตัวตนกับหมายเลขนั้น ๆ จะไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลจาก “ผู้ให้บริการเครือข่าย” ไปสู่ “บุคคลที่สาม” 

มู่ย้ำว่า การทำธุรกรรมมูลค่ามาก จะสามารถทำผ่านได้เพียง “กระเป๋าเงินที่ระบุตัวตน” เท่านั้น และจะสามารถถูกติดตามการทำธุรกรรมได้ ซึ่งข้อกำหนดนี้เป็นไปเพื่อ “ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงก่ออาชญากรรม” เช่น การฟอกเงิน และการให้เงินสนับสุนนการก่อการร้าย

ป้องกันอาชญากรรม แต่ไม่สะดวกใช้จ่าย

อัลเบิร์ต หวัง” ชาวจีนที่ทำงานในเทศบาลเมืองซูโจว และได้รับการเงินเดือนบางส่วนเป็นเงินหยวนดิจิทัล เล่าว่า ตนไม่ติดใจกับเงื่อนไขการทำธุรกรรมดังกล่าว เพราะการทำธุรกรรมของเขาอยู่ในระดับแค่ไม่กี่พันหยวนต่อเดือน

แต่ภรรยาของหวังที่เป็นข้าราชการของเมือง ได้รับเงินเดือนเป็นเงินหยวนดิจิทัลทั้งหมด ต้องเผชิญกับเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลแบบเดียวกับหลิน

“เธอต้องถอนเงินออก เพราะเธอไม่สามารถฝากเงินหรือซื้อสินทรัพย์ทางการเงินด้วยกระเป๋า e-CNY ... และมีข้อเสียที่เห็นได้ชัดอีกมาก เช่น ไม่ได้เป็นที่ยอมรับทุกร้านค้า และทำหน้าที่เป็นแค่เครื่องมือในการชำระเงินเท่านั้น” หวัง กล่าว และเสริมว่า เงินรูปแบบนี้ไม่สามารถแข่งขันกับอาลีเพย์ และวีแชทเพย์ ที่นิยมใช้ทั่วไปและมีฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ เห็นด้วยกับหวังเช่นกัน โดยกล่าวว่า แอปฯชำระเงินออนไลน์ที่มีชื่อเสียงและมีฟังก์ชันที่หลากหลายกว่า เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการใช้เงินหยวนดิจิทัล

“การพัฒนาของเครื่องมือชำระเงินออนไลน์ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและดุเดือด ซึ่งไม่อาจมีอะไรใหม่ๆมาแทนที่ได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีดิสรัปชั่น”

ทั้งนี้ จีนเริ่มทดสอบการใช้เงินหยวนดิจิทัลในบางเมืองเมื่อปี 2562 เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดตัวเงินดิจิทัลแห่งชาติ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดทั่วโลกในด้านการเปิดตัวสกุลเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

แม้จีนยังไม่ประกาศเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลอย่างเป็นทางการ แต่ได้ทดลองตลาดเงินดิจิทัลตั้งแต่เริ่มทดสอบใช้เงินหยวนดิจิทัลแล้ว

ด้านแบงก์ชาติจีนเผยในการประกาศผลประกอบการรายปี ระบุว่า ในปี 2566 ประชาชนเปิดใช้กระเป๋าเงิน e-CNY จำนวน 15 ล้านบัญชี และมากกว่า 1.3 ล้านบัญชีเป็นของธุรกิจ และมีร้านค้ามากกว่า 2.7 ล้านแห่งที่เปิดรับการใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัล ซึ่งนอกจากนเงินดิจิทัลสามารถใช้จ่ายทั่วไปได้แล้ว รัฐยังขยายขอบเขตให้สามารถชำระเงินแก่บริการรัฐอื่นๆ ได้ อาทิ การชำระภาษี และประกันสังคม

อ้างอิง: South China Morning Post