สำรวจความพร้อมฝรั่งเศสเจ้าภาพ “Paris 2024” งานนี้ไม่ได้มีดีแค่กีฬา

สำรวจความพร้อมฝรั่งเศสเจ้าภาพ “Paris 2024” งานนี้ไม่ได้มีดีแค่กีฬา

พาไปดูกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ 'ฝรั่งเศส' จะงัดมาใช้เพื่อคว้าประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพ 'Olympic and Paralympic Games Paris 2024' ที่กำลังจะมีขึ้นในปีนี้

ฝรั่งเศสกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพ “Olympic and Paralympic Games Paris 2024” การแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ทั่วโลกกำลังจับตามองไม่เพียงแต่ความสมบูรณ์แบบในการจัดงานเท่านั้น แต่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ฝรั่งเศสจะรวมใจทุกประเทศให้เป็นหนึ่ง และฮีลใจผู้ชมทั่วโลกอย่างไร ที่ขาดไม่ได้คือ กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ฝรั่งเศสจะงัดมาใช้เพื่อคว้าประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพนี้

การได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก ถือเป็นโอกาสทองที่จะกระตุ้นเม็ดเงินลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสนามแข่งขัน สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการ รองรับผู้รักในกีฬาทั่วทุกมุมโลกที่จะเดินทางเข้ายังประเทศอย่างมหาศาล สำหรับงาน Paris 2024 มีการคาดการณ์ถึงผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ไว้ในรายงาน “The Paris 2024: Annual Report 2022” ในหลากหลายด้านดังนี้

  • สร้างการจ้างงานราว 150,000 ตำแหน่ง ในหลายสาขาอาชีพผ่านการสนับสนุนให้ธุรกิจท้องถิ่น มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของงานแข่งกีฬา เช่น โครงการ “Impact 2024-From the Stadium to Employment” ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการจ้างงานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยปัจจุบันมีธุรกิจท้องถิ่นกว่า 5,500 แห่ง ได้เข้าร่วมในการจับคู่หางานสำหรับผู้ว่างงานระยะยาวแล้ว
  • การฝึกอบรม และพัฒนาทักษะการจัดงานครั้งนี้มีความพยายามที่จะอำนวยความสะดวก ให้แรงงานเข้าถึงโอกาสการจ้างงาน และการพัฒนาทักษะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “Emploi 2024” ใช้สำหรับหางาน และฝึกอบรมเสริมทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแข่งกีฬา กลยุทธ์นี้ฝรั่งเศสมองไกล คาดหวังจะช่วยรักษาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนหลังจบการแข่งขัน
  • โอกาสทางการลงทุนการประมูลโครงการต่างๆ ในการจัดงาน คาดว่าจะโต มีมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านยูโร สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการในประเทศ
  • ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากสร้างรายได้กระตุ้นภาคบริการ และการท่องเที่ยวของประเทศ

ปารีสใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์เมือง สร้างกระแสน่าสนใจก่อนเริ่มงาน ปารีสในฐานะศูนย์กลางแฟชั่นโลก กำลังมองหามาตรฐานใหม่สำหรับการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ ผ่านการใช้ศิลปะและแฟชั่น เช่น การร่วมมือกับศิลปินชื่อดังอย่าง Ugo Gattoni ในการออกแบบโปสเตอร์ประจำการแข่งขันที่ร่วมสมัยแต่ไม่ละทิ้งดีเทล หรือการเปิดตัวยูนิฟอร์มนักกีฬาที่ดีไซน์โดย Stephane Ashpool เจ้าของแบรนด์แฟชั่นท้องถิ่น Pigalle ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ให้กับเมืองและงาน ดึงดูดความสนใจทั้งจากคนรักกีฬา และผู้ชมทั่วไป ทำให้สินค้าทุกหมวดที่ขายในช่วงการจัดงานนี้ จะกลายเป็นของสะสมมีมูลค่าที่ทุกคนตามหา

สำรวจความพร้อมฝรั่งเศสเจ้าภาพ “Paris 2024” งานนี้ไม่ได้มีดีแค่กีฬา


จัดงานใหญ่อย่างไรให้ยั่งยืน

การจัดงานกีฬาระดับโลกขนาดใหญ่อย่างโอลิมปิกเกมส์ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เป็นธรรมดาที่อาจได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องถึงความยั่งยืน จากรายงานประจำปีแสดงให้เห็นว่า Paris 2024 ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในหลากหลายมิติเช่นกัน

  • มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ เพื่อลดขยะ และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยวางแผนหาทางใช้ประโยชน์จากวัสดุ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หลังจบการแข่งขัน
  • การจัดการด้านอาหารเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลง 50% ใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าขยะอาหารเป็นศูนย์ และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
  • มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% พร้อมแคมเปญรณรงค์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลดการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคล และในการทำงาน
  • นำพางานเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน ISO 20121 ด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน

ความพยายามเหล่านี้สะท้อนถึงกลยุทธ์ของฝรั่งเศสที่จะใช้ Paris 2024 เป็นเครื่องมือเร่งปฏิกิริยาสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเพิ่มโฟกัสไปที่การเติบโตให้ยั่งยืน จึงน่าจับตามองแนวทางการจัดงานในครั้งนี้ อาจนำไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ในอนาคต

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์