เปิดใจทูตลาว '1 สะพาน 3 ประเทศ' 30 ปี สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1

เปิดใจทูตลาว '1 สะพาน 3 ประเทศ' 30 ปี สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กับไทยเป็นเพื่อนบ้านอาเซียนห่างกันแค่แม่น้ำโขงกั้น ถึงวันนี้สองประเทศมีสะพานมิตรภาพเชื่อมระหว่างกันถึง 5 แห่ง สะพานแห่งแรกเพิ่งครบรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. คำพัน อั่นลาวัน เอกอัครรัฐทูต สปป.ลาว พูดคุยกับกรุงเทพธุรกิจเนื่องในวาระสำคัญนี้

  • ย้อนความรู้สึก 30 ปี 

ตอนนั้นผมเป็นเลขานุการตรีอยู่ที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย ก็รู้สึกตื่นเต้นที่สุดเพราะเป็นสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งแรก และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง ร.9 เสด็จไปทรงเปิดสะพานร่วมกับประธานประเทศลาวในวันที่ 8 เม.ย.2537 แล้วพระองค์ก็เสด็จไปเยือนลาว หลังจากที่ไม่ได้เสด็จต่างประเทศ 27 ปี ถือเป็นเกียรติสูงส่งของรัฐบาลและประชาชนลาว

ปีนี้จึงเป็นครบรอบ 30 ปีสองเหตุการณ์คือ 1) ในหลวง ร.9 เสด็จเปิดสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 1 และ 2) เสด็จไปพระราชทานโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน–ห้วยซั้ว หลัก 22 เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ตามที่นายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศขอพระราชทานพระมหากรุณา ในหลวงประทับที่ลาวหนึ่งคืน

  •  การเดินทางก่อนมีสะพานมิตรภาพ

 ตอนยังไม่มีสะพานมิตรภาพ การเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าใช้แพขนานยนต์ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เปิดให้บริการเกือบ 24 ชั่วโมง คนใช้บริการมากจึงเกิดความคิดว่าสมควรมีสะพานเชื่อมระหว่างกัน

  •  ผลประโยชน์-ความร่วมมือพอกพูนขึ้นหลังมีสะพาน

 การคมนาคมขนส่งสะดวกสบายขึ้นมาก เพราะนอกจากการขนส่งทางรถแล้วยังมีรถไฟด้วย สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 เป็นความร่วมมือระหว่างสามประเทศ โดยออสเตรเลียให้ทุนสนับสนุนในสมัยนายกรัฐมนตรีบ็อบ ฮอว์ก ส่วนไทยก็สมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผลพวงของนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของ “น้าซาด”

เดี๋ยวนี้เรามีสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 แล้ว แห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2   มุกดาหาร-สะหวันนะเขต แห่งที่ 3 นครพนม-ท่าแขก แห่งที่ 4 ห้วยทราย-เชียงของ แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ ตั้งใจให้เสร็จในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีแผนจะสร้างสะพานแห่งที่ 6 สาละวัน-อุบลราชธานี และสะพานแห่งที่ 7 ต่อไป

  •  บทบาทของออสเตรเลียในสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 1

ออสเตรเลียเห็นว่าการรวมตัวในระดับภูมิภาคมีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลจึงมองว่าการบูรณาการเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเงื่อนไขให้ สปป. ลาว นำเข้าและส่งออกสินค้าในภูมิภาครวมทั้งสร้างรายได้ให้กับ คนลาวโดยรวม

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาล สปป. ลาว ไทย และออสเตรเลีย ในการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงระดับภูมิภาค และความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทั้งสามประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 1 ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียเป็นจำนวนเงิน 42 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย 

  •  การค้า-เศรษฐกิจ-การลงทุน ระหว่างลาว-ไทย

เรื่องเศรษฐกิจนี่ไทยเป็นเบอร์ 1 ของลาวตั้งแต่ไหนแต่ไรมา นอกจากนี้เรายังมีชายแดนติดกัน 1,800 กิโลเมตร ทุกจังหวัดที่ติดกับไทยเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรและด่านเฉพาะกิจ การค้าการขายไปมาหาสู่เป็นไปโดยสะดวก แต่ช่วงโควิดต่างฝ่ายต่างปิดประเทศไปสองปีกว่าส่งผลกระทบแรงมาก การท่องเที่ยว ลงทุน ค้าขาย หยุดชะงักหมด 

ถึงวันนี้การลงทุนของไทยถือว่าขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในท็อปทรี ระหว่างไทย จีน เวียดนาม โครงการใหญ่ๆ ของไทยที่เข้าไปลงทุนมักเป็นเรื่องของไฟฟ้า เช่น ช.การช่าง บ้านปู รวมถึงการบริการและการท่องเที่ยว รวมเบ็ดเสร็จการลงทุนของไทยอาจจะอัพขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้ 

ส่วนนักลงทุนลาวเข้ามาในไทยบ้างนิดหน่อยส่วนใหญ่เข้ามาในรูป Joint Venture แต่แรงงานลาวเข้ามาทำงานในไทยเยอะ ตอนนี้ที่ลงทะเบียนประมาณ 2.5 แสนคน ที่เข้ามาไม่ถูกต้องมีอีกเป็นจำนวนมาก บางคนใช้พาสปอร์ตมาท่องเที่ยวแล้วก็ทำงานไปเลย ซึ่งทางการทั้งสองฝ่ายก็หารือเพื่อแก้ไขปัญหากันอยู่

ความใกล้ชิดของเราแบ่งแยกกันไม่ได้ แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้อง เรามีบริษัทจัดหางานและมีเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลลาวและไทย  เปิดใจทูตลาว \'1 สะพาน 3 ประเทศ\' 30 ปี สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1

  •   ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและลาวในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 

 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างสองประเทศที่มีเส้นเขตแดน ทั้งสองประเทศได้ให้ความสำคัญและเพิ่มความร่วมมือโดยมีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาของแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันจนเกินไปและต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะฝั่งลาวมีศักยภาพ เพื่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ในขณะที่ฝ่ายไทยมีศักยภาพในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งสามารถร่วมมือกันโดยเฉพาะในการซื้อและขายไฟฟ้าร่วมกันในราคาที่ยุติธรรมและตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

  •  อุปสรรคความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

 การนำเข้า-ส่งออกสินค้ากสิกรรมยังมีปัญหา ทางไทยอยากให้เป็นสินค้าตามฤดูกาลและกำหนดโควตา ทางลาวขอให้ปล่อยเสรีตามกรอบของอาเซียน จริงๆ แล้วการผลิตของลาวมีไม่มาก ช่วงหลังตลาดใหญ่คือจีนรับซื้อหมดทุกอย่าง ทั้งกสิกรรม เกษตร ปศุสัตว์ พอดีกับที่เรามีรถไฟความเร็วสูงด้วย การขนส่งตอนนี้ถูกมากลงมาถึงเวียงจันทน์ จีนบางครั้งก็เป็นที่ระบายสินค้า และพวกเราก็ผลิตตามดีมานด์ของจีนไม่ทันด้วย บริษัทไทยหลายบริษัทก็ไปลงทุนด้านการผลิตกสิกรรมเช่นกัน 

  •  2567 ปีท่องเที่ยวลาว 

 ปี 2567 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวของ สปป. ลาวด้วยพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2566 รัฐบาลลาวและประชาชนลาวทั่วประเทศได้เตรียมกิจกรรมหลากหลายระดับประเทศและระดับจังหวัด รวมทั้งหมด 79 กิจกรรมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กิจกรรมเหล่านี้มุ่งเน้นการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ตลอดจนประเพณีและวิถีชีวิตของสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ

  •  สถานการณ์ไทยเที่ยวลาว ลาวเที่ยวไทย

 เยอะ หลังเราเปิดประเทศหลังโควิด ถ้าหยุดยาวคนไทยจะไปเที่ยวลาวกันมากเพื่อไปนั่งรถไฟความเร็วสูง ชอบกันมากไปวังเวียง ไปหลวงพระบาง แค่สองชั่วโมง รถไฟดี ใหม่ เนี้ยบ วิวสวย เคยถาม ตม.หนองคาย คนไทย-ลาวเข้าออกกันเกือบวันละหมื่น เป็นคนไทยประมาณ 7,000 คน ลาว 3,000 คน นี่คือเมื่อสองปีที่แล้ว ปัจจุบันยิ่งเยอะกว่าเดิม 

คนไทยคือนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวลาวมากเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือเวียดนามและจีน เรายังรับผลพลอยได้จากนักท่องเที่ยวยุโรปที่มาเที่ยวไทยแล้วเข้าไปลาว ฝรั่งเศสชอบมาเที่ยวเพราะลาวเคยเป็นเมืองขึ้นก็จะมีร่องรอยประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส หนักไปทางร้านอาหาร และฝรั่งก็ชอบนั่งเรือแม่น้ำโขงจากเชียงราย ไปเชียงของ มาหลวงพระบาง ถ้าเข้าไปทำเรื่องโรงแรม,  cruise ในลาวจะดีมาก หลายคนบอกว่าธรรมชาติลาวยังบริสุทธิ์ แม่น้ำ ป่าเขายังสวยงาม

  •  จุดแข็งของไทยและลาวที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 ตรงนี้จะเป็นทางผ่าน เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบก เป็นทางออกสู่ทะเล เพราะในบรรดาห้าประเทศ เมียนมา จีน ลาว กัมพูชา ไทย เราอยู่ตรงกลาง เราก็พยายามส่งเสริมเส้นทางการขนส่ง เช่น east west economic corridor เส้นทางที่ 9 ของเอดีบีจากเวียดนามมาสะหวันนะเขต-มุกดาหาร ทะลุเมียวดี ด้านบนเป็น north-south และถนนของอาเซียนพวกเราจะเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ เชื่อมต่อคุนหมิง-สิงคโปร์ จากจีน ผ่านลาว ผ่านไทย ลงไปมาเลเซีย สิงคโปร์ แต่รถไฟความเร็วสูงถือเป็นผลประโยชน์สูงสุด คนนิยมชมชอบมาก เราก็คุยกับรัฐบาลไทยว่าทำอย่างไรให้เชื่อมกัน ก็ทำสะพานขึ้นมาแห่งหนึ่ง เพราะสะพานแห่งแรกไม่รองรับรถไฟความเร็วสูง เชื่อมจีนมาเวียงจันทน์ หนองคาย อุดรฯ ขอนแก่น โคราช เข้ามากรุงเทพฯ เราก็คุยกับรัฐบาลไทยว่าอยากให้เชื่อม ทางจีนเขาก็อยากให้เชื่อม 

  •  ประธานอาเซียนกับสถานการณ์เมียนมา 

 เราก็คุยกันอยู่กับเพื่อนมิตร โดยเฉพาะกับกระทรวงต่างประเทศของไทย บังเอิญลาวเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ก็เกิดเหตุการณ์สู้รบกันในเมียนมา ในนามประธานอาเซียนพวกเราก็ไม่สบายใจแต่ก็พยายามจะมีทูตพิเศษของลาวเคยประจำอยู่สหประชาชาติมาหลายปี เราต้องฟังทุกฝ่าย ทูตพิเศษก็เข้าไปถึงย่างกุ้ง เนปิดอว์ คุยกับกลุ่มที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะกับฝ่ายไทยพวกเราจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนข่าวกรองกันตลอดว่าจะเอายังไง  

เราก็อยากให้ทางรัฐบาลเมียนมาฟังเสียงพวกเราด้วยว่าพวกเราต้องการยังไง และเราก็อยากฟังเสียงเขาว่าเขาอยากได้ยังไง ลาวเป็นประธานอาเซียนก็มีความหวัง แต่หลังๆ มีปะทะกันที่เมียวดีก็หนักใจ ถือเป็นความท้าทายของประธานอาเซียนที่มารับตำแหน่งในปีที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาอิสราเอล ตะวันออกกลางก็มาเกิดในช่วงนี้ ยูเครน-รัสเซียก็ยาวมา ทะเลจีนใต้อยู่ดีๆ ก็มีมะง้องมะแง้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ 

  •  แล้วอาเซียนจะทำอย่างไร 

 แต่ละเหตุการณ์ต้องมีแถลงการณ์ทัศนะของอาเซียน แต่เราพยายามรักษาแกนกลาง (Centrality) และความเป็นเอกภาพ (Unity) ของอาเซียน เพราะที่ผ่านมามีคนบอกว่าอาเซียนแบ่งเป็นสองเป็นสาม พวกเราก็พยายามเหนียวแน่นกันเอาไว้