เปิด“ข้อมูลท้าทาย” 5 ด้าน กับฝันเป็นมหาอำนาจศก.โลกของอินเดีย

เปิด“ข้อมูลท้าทาย” 5 ด้าน กับฝันเป็นมหาอำนาจศก.โลกของอินเดีย

เศรษฐกิจอินเดียในปี 2566 มีมูลค่า 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ5ของโลก และไต่ขึ้นมา4อันดับในช่วงที่โมดีเป็นผู้นำ

วันศุกร์(19 เม.ย.)อินเดียเริ่มเปิดหีบเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งใหญ่ ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 960 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศ 1.4 พันล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียมั่นใจมากว่าจะคว้าชัยในศึกเลือกตั้ง ได้บริหารประเทศต่ออีก 5 ปีเป็นสมัยที่ 3 

ภายใต้การบริหารประเทศของโมดี อินเดียวาดฝันว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกแห่งศตวรรษที่ 21 โดยเป็นทางเลือกที่แท้จริงแทนที่จีนให้แก่บรรดานักลงทุนและแบรนด์สินค้าอุปโภค-บริโภคที่กำลังตามล่าหาความเติบโตให้แก่ธุรกิจ ตลอดจนบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่มองหาแนวทางลดความเสี่ยงในระบบห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและชาติตะวันตกย่ำแย่ลงเรื่อยๆ อินเดียก็ดำเนินความสัมพันธ์อันดีกับบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งยังพยายามเชื้อเชิญบริษัทขนาดใหญ่ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศอย่างต่อเนื่อง

แต่ความพยายามเหล่านี้จะเพียงพอให้อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้หรือไม่ เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น นำเสนอข้อมูล 5 ด้านที่เป็นข้อเท็จจริงของอินเดีย  นับตั้งแต่โมดีขึ้นมาบริหารประเทศในปี 2557 และมองไปถึงความท้าทายในวันข้างหน้าที่ผู้นำคนใหม่ต้องเผชิญในการบริหารประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดของโลกแห่งนี้
 

ยังคงเป็นประเทศที่ยากจนมาก

           เศรษฐกิจอินเดียในปี 2566 มีมูลค่า 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ5ของโลก และไต่ขึ้นมา4อันดับในช่วงที่โมดีเป็นผู้นำตลอด 10 ปีมานี้

           เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวในแต่ละปีขั้นต่ำ 6% ในช่วง2-3ปีข้างหน้า แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่า อินเดียต้องตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัว 8% หรือมากกว่านี้ ถ้าอยากก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

           การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะหนุนให้อินเดียไต่ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก ขณะที่บรรดาผู้สังเกตการณ์บางคนคาดการณ์ว่า อินเดียจะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ3รองจากสหรัฐและจีน ภายในปี 2570 

            อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก ระบุว่า อินเดียจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ต่อหัวประชากร ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานการดำเนินชีวิต โดยในปี 2565 อินเดียอยู่ที่อันดับค่อนข้างต่ำคือ 147 

            “กุยโด คอสซี” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจมหัพภาคจาก University of St Gallen ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า "อินเดียกำลังเผชิญหน้ากับภาวะ“เศรษฐกิจไหลริน (Trickle-Down Effect)” หรือบางครั้งก็เรียกว่า “ทฤษฎีฝนหล่นจากฟ้า”ที่ตอนนี้กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นสาเหตุที่ยิ่งทำให้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน ทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ เพราะกลับกลายเป็นว่าสายธารแห่งผลกำไรไม่ค่อยตกมาถึงพื้น แต่ถูกกักเก็บไว้โดยผู้มั่งมีไม่กี่กลุ่มด้านบนสุด ขณะที่คนส่วนใหญ่เบื้องล่างต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงเศษที่เหลืออยู่ เพราะไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก
 

สร้างอินเดียสมัยใหม่  

        อินเดียกำลังทำสิ่งที่จีนทำมาแล้วเมื่อ30ปีก่อน นั่นคือใช้จ่ายเงินหลายพันล้านสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งถนน ท่าเรือ สนามบิน และทางรถไฟ ส่วนภาคเอกชนก็กำลังสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

           เฉพาะปีนี้เพียงปีเดียว รัฐบาลใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไปแล้ว 134,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ตอนนี้มีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วอินเดีย

           ในช่วงปี 2557 และ 2566 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสร้างประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจอินเดียอย่างมากมาย รวมถึง สร้างงานและปรับปรุงกฏระเบียบในการทำธุรกิจในอินเดียได้สะดวกและง่ายขึ้น

ตลาดหุ้นอินเดียโตแกร่ง

          สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ดัชนี Nifty 50 ของตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้น 20% ในปี 2566 โดยหลังจากโค่นตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ขณะนี้ตลาดหุ้นอินเดียกลายเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

         รีฟินิทิฟ ระบุว่า ดัชนี Nifty 50 และ BSE Sensex ของตลาดหุ้นอินเดีย พุ่งขึ้นสู่ระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,666 จุด และ 74,742 จุดตามลำดับ

         “การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียหนุนให้บริษัทมีผลประกอบการสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการทำผลงานของตลาดหุ้นอินเดีย” อตุล ซิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการแอลจีที เวลท์ อินเดีย บริษัทการจัดการความมั่งคั่งจากอินเดียระบุ

         กระทรวงสถิติของอินเดียระบุว่า เศรษฐกิจอินเดียขยายตัว 7.2% สำหรับปีงบประมาณ 2566 และมีแนวโน้มขยายตัว 7.6% ในปีงบประมาณ 2567 โดยปีงบประมาณของอินเดียเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.และสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.

หนุนอุตสาหกรรมการผลิต

          รัฐบาลอินเดียออกมาตรการเพื่อจูงใจบรรดาบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน 14 อุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์ มีตั้งแต่อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

          ฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ลก็กำลังขยายกำลังการผลิตที่โรงงานในอินเดีย และล่าสุด อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีพันล้านก็ประกาศว่ากำลังจะไปหารือกับโมดีเกี่ยวกับการลงทุนในอินเดีย แต่ยังไม่กำหนดวันที่จะหารือกัน

งานหายไปไหน

            เศรษฐกิจอินเดียก็ไม่ต่างจากประชาธิปไตยในประเทศที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ โมดี ต้องรับมือความท้าทายอันใหญ่หลวงนั่นคือ การสร้างงานหลายร้อยล้านตำแหน่งแก่ประชาชนที่ยังคงมีฐานะยากจนเป็นส่วนใหญ่

            องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ระบุเมื่ิอเดือนที่แล้วว่า ชาวอินเดียมีการศึกษาที่มีอายุระหว่าง 15 และ 29 ปี มีแนวโน้มที่จะตกงานมากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ